กรุงเทพ--7 ม.ค.--สมาพันธ์ผู้ผลิตทองคำแห่งโลก
สมาพันธ์ผู้ผลิตทองคำแห่งโลก จัดทำการสำรวจมุมมองและพฤติกรรมเกี่ยวกับทองคำของผู้บริโภคใน 4 ประเทศ อาเซียนช่วงก่อนและระหว่างวิกฤติเศรษฐกิจ ได้แก่ เกาหลีใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซียและไทย ผลปรากฎทองคำยังถือเป็นหลักประกันความมั่นคงทางการเงินของผู้บริโภคในเอเชีย เผยผู้บริโภคชาวไทยยังผูกพันอย่างแน่นแฟ้นและเก็บออมทองคำมากเป็นอันดับ 1 และวางแผนที่จะสะสมทองคำเป็นทุนสำรองส่วนตัวต่อไปในอนาคต
นายพงศ์พันธ์ พงษ์ศิริบัญญัติ ผู้จัดการประจำประเทศไทย สมาพันธ์ผู้ผลิตทองคำแห่งโลก เปิดเผยว่า "ทางสมาพันธ์ฯ ได้มอบหมายให้บริษัท วิจัยการตลาด SOFRES FSA ทำการสำรวจมุมมองและพฤติกรรมการเก็บออมและใช้จ่ายทองคำของ ผู้บริโภคในเอเชียในช่วงก่อนและระหว่างวิกฤติเศรษฐกิจ เพื่อศึกษาบทบาทของทองคำที่มีต่อความเป็นอยู่ของผู้คนในภูมิภาคนี้ โดยได้กระจายการสำรวจออกไปใน 4 ประเทศที่กำลังประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจ ได้แก่ เกาหลีใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซียและไทย โดยแบ่งกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามออกเป็น 2 กลุ่ม ๆ ละ 250 คน ได้แก่ กลุ่มผู้บริโภคเพศชาย และกลุ่มผู้บริโภคเพศหญิง แต่ละกลุ่มอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 20 กว่า-60 ปี ผลปรากฎว่าผู้บริโภคในเอเชียมีความผูกผันกับทองคำมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบทางการเงินอย่างรุนแรงที่สามารถหันไปพึ่งพาทองคำที่สะสมไว้เป็นทุนสำรองเพื่อความอยู่รอดได้ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
จากผลการสำรวจในครั้งนี้ ทองคำคือที่พึ่งทางการเงินแหล่งสุดท้ายที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจขาย โดยผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 79 นำทองคำที่สะสมไว้ออกขายเพื่อสร้างกองทุนเร่งด่วนสำหรับครอบครัว อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 85 ยังไม่มีความประสงค์ที่จะนำทองคำออกขายอีกในช่วง 6 เดือนนับจากนี้ นอกจากนี้ ในบรรดาผู้บริโภคจากทั้ง 4 ประเทศที่ทำการสำรวจ ผู้บริโภคชาวไทยแสดงความตั้งใจที่จะซื้อหาทองคำมาเก็บไว้อีกมากที่สุด โดยร้อยละ 44 แสดงความตั้งใจอย่างแน่วแน่เป็นพิเศษ นอกจากนี้ ทองคำยังถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 1 ในบรรดาทรัพย์สินมีค่าที่มีอยู่ในครอบครองของผู้บริโภคชาวไทยอีกด้วย
นายพงศ์พันธ์ กล่าวถึงความผูกพันของผู้บริโภคชาวไทยที่มีต่อทองคำว่า "ตามประเพณีนิยมของไทย ทองคำถือเป็นสื่อกลางการลงทุนที่สืบทอดกันมาช้านาน และเป็นหลักประกันที่มั่นคงอย่างยิ่งในช่วงเศรษฐกิจปั่นป่วน ในปัจจุบันคนไทยยิ่งมีความผูกพันและเห็นคุณค่าของทองคำมากยิ่งขึ้น เนื่องจากทองคำมีมูลค่าสูงขึ้นและขายได้ราคาโดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ความผูกพันและมูลค่าของทองคำ ผนวกกับคุณค่าของทองคำในการชำระหนี้ กลายเป็นแรงผลักดันให้ผู้บริโภคเกิดความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะซื้อหาทองคำที่ขายไปนั้นกลับคืนมาเก็บไว้อีก สำหรับผู้บริโภคที่เริ่มกลับมาสะสมทองคำใหม่อีกครั้ง การซื้อขายทองคำส่วนใหญ่จะจัดอยู่ในช่วงระยะปานกลางและระยะยาว
สมาพันธ์ผู้ผลิตทองคำแห่งโลกเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรระดับนานาชาติ ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2530 โดยความร่วมมือของผู้ผลิตทองคำชั้นนำจากทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารทางด้านสถิติและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับทองคำและตลาดการค้าทองคำ
เครือข่ายของสมาพันธ์ผู้ผลิตทองคำแห่งโลกครอบคลุมตลาดการค้าทองคำทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา ปัจจุบันมีสำนักงานตัวแทนใน 21 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศในเอเชีย ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ไต้หวัน เวียดนาม ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดียและไทย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม บริษัท เอ็มดีเค คอนซัลแทนส์ (ประเทศไทย) จำกัด โทร. 254-5152--จบ--