ศปถ.ปิดศูนย์ฯ ลดอุบัติเหตุถนนสงกรานต์ ปี 56 พร้อมผลักดันทุกภาคส่วนปฏิบัติการเข้มข้นต่อเนื่อง

ข่าวทั่วไป Thursday April 18, 2013 11:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--ศปถ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2556 พร้อมสรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนน รวม 7 วัน รณรงค์ “สงกรานต์เป็นสุข ทุกคนปลอดภัย ร่วมใจรักษาวัฒนธรรม” เกิดอุบัติเหตุ รวม 2,828 ครั้ง ผู้เสียชีวิต รวม 321 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 3,040 คน โดยรถจักรยานยนต์และการเมาแล้วขับเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ศปถ.พร้อมผลักดันทุกภาคส่วนปฏิบัติการลดอุบัติเหตุทางถนนเข้มข้น ต่อเนื่อง จริงจัง เน้นการบังคับใช้กฎหมายควบคู่มาตรการทางสังคม รวมถึงปลูกจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน โดยเฉพาะด้านวินัยจราจร เพื่อสร้างถนนทุกสายให้มีความปลอดภัยอย่างยั่งยืน พล.ต.ท. ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2556 กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2556 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 17 เม.ย.56 ซึ่งเป็นวันที่สุดท้ายของการรณรงค์ “สงกรานต์เป็นสุข ทุกคนปลอดภัย ร่วมใจรักษาวัฒนธรรม” เกิดอุบัติเหตุ 247 ครั้ง (ปี 2555 เกิด 257 ครั้ง) ลดลง 10 ครั้ง ร้อยละ 3.89 ผู้เสียชีวิต 36 ราย (ปี 2555 เสียชีวิต 38 ราย) ลดลง 2 ราย ร้อยละ 5.26 ผู้บาดเจ็บ 257 คน (ปี 2555 บาดเจ็บ 261 คน) ลดลง 4 คน ร้อยละ 1.53 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ (13 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ ลำปาง และอำนาจเจริญ (3 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (15 คน) พล.ต.ท. ชัจจ์ กล่าวสรุปอุบัติเหตุทางถนนช่วงรณรงค์ “สงกรานต์เป็นสุข ทุกคนปลอดภัย ร่วมใจรักษาวัฒนธรรม” รวม 7 วัน (วันที่ 11 — 17 เมษายน 2556) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,828 ครั้ง (ปี 2555 เกิด 3,129 ครั้ง) ลดลง 301 ครั้ง ร้อยละ 9.62 ผู้เสียชีวิตรวม 321 ราย (ปี 2555 เสียชีวิต 320 ราย) เพิ่มขึ้น 1 ราย ร้อยละ 0.31 ผู้บาดเจ็บรวม 3,040 คน (ปี 2555 บาดเจ็บ 3,320 คน ) ลดลง 280 คน ร้อยละ 8.43 สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาแล้วขับ ร้อยละ 39.11 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 23.59 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 78.71 รถปิคอัพ ร้อยละ 11.80 พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 21.60 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 64.92 บนถนนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 37.87 ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 36.67 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 — 20.00 น. ร้อยละ 33.03 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 56.70 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,354 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 69,369 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 4,686,962 คัน โดยมีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 232,600 ราย รองลงมา ไม่มีใบขับขี่ 222,601 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ ตราด ปัตตานี ภูเก็ต และระนอง อำเภอที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) จำนวน 673 อำเภอ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (104 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ (12 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (110 คน) พล.ต.ท.ชัจจ์ กล่าวต่อไปว่า จากสถิติอุบัติเหตทางถนน พบว่า จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุและผู้จำนวนผู้บาดเจ็บลดลง แต่จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยการเมาแล้วขับยังคงเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด และยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่อุบัติเหตุเกิดบนถนนทางหลวงแผ่นดิน และกลุ่มวัยแรงงานเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุด ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จะได้นำข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนมาวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยง และกำหนดแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงปกติและช่วงเทศกาลให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา พร้อมทั้งผลักดันกลไกการบังคับใช้กฎหมายควบคู่กับมาตรการทางสังคมให้เข้มข้นเพิ่มมากขึ้น รวมถึงให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความรู้และปลูกจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน โดยเฉพาะด้านวินัยจราจร ตลอดจนบูรณาการ ทุกภาคส่วนปฏิบัติการลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้น จริงจัง และต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้การลดอุบัติเหตุทางถนนเป็นวาระแห่งชาติ เชื่อมั่นว่า หากทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันอย่างเข้มแข็ง ก็จะสามารถลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชนจากอุบัติเหตุทางถนนได้ ท้ายนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจะได้นำสรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี ๒๕๕๖ และข้อเสนอแนะต่างๆ เสนอคณะรัฐมนตรี และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้บังเกิดผลในทางปฏิบัติ เพื่อสร้างถนนทุกสายของประเทศไทยให้มีความปลอดภัยอย่างยั่งยืน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทั้งที่ประจำอยู่ ณ ศูนย์อำนวยการฯ ส่วนกลาง ระดับจังหวัด อำเภอ และที่ปฏิบัติงานสร้างความปลอดภัยทางถนนในพื้นที่ ซึ่งได้ร่วมกันดำเนินการลดอุบัติเหตุทางถนน อำนวยความสะดวกในการเดินทาง และสร้างความปลอดภัยทางถนนกับพี่น้องประชาชนตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์อย่างเต็มกำลัง เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในทุกพื้นที่//. “สงกรานต์เป็นสุข ทุกคนปลอดภัย ร่วมใจรักษาวัฒนธรรม”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ