“บาทแข็ง” ฉุดดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม มี.ค. ลดลงติดต่อเป็นเดือนที่ 3 วอนรัฐดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่ผันผวนแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง

ข่าวทั่วไป Thursday April 18, 2013 12:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--ส.อ.ท. นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนมีนาคม 2556 จำนวน 1,065 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 30.0, 40.2 และ 29.8 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดตามลำดับ นอกจากนี้ ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 43.8,12.3,16.5, 14.8 และ12.6 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 84.9 และ 15.1ตามลำดับ ผลการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนมีนาคม 2556 อยู่ที่ระดับ 93.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 95.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 โดยค่าดัชนีที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ทั้งนี้ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการประกอบการ โดยต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นที่ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อเนื่องมาจากเดือนก่อนหน้า รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาท และราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังคงต้องวางแผนการผลิตเพื่อรองรับสถานการณ์ไฟฟ้าที่อาจไม่เพียงพอจากการที่ประเทศพม่าหยุดส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่ไทย เนื่องจากหยุดซ่อมบำรุงแท่นขุดเจาะก๊าซในช่วงเดือนเมษายน ตลอดจนสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่กระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรซึ่งเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร ขณะที่ปัญหาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นความกังวลของผู้ประกอบการในเดือนนี้ด้วย สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.3 ลดลงจากระดับ 103.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ ค่าดัชนีที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณ การผลิต และผลประกอบการ ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯของอุตสาหกรรมทุกขนาดปรับลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ โดยอุตสาหกรรมขนาดย่อม มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 81.9 ลดลงจากระดับ 82.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม และต้นทุนประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร, อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือน ข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 96.4 ลดลงจากระดับ 99.6 ในเดือนกุมภาพันธ์โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 93.5 ลดลงจากระดับ 94.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมรองเท้า, อุตสาหกรรมเครื่องประดับ และอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.9 ลดลงจากระดับ 101.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 105.3 ลดลงจากระดับ 107.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก, อุสาหกรรมก๊าซ และอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.9 ลดลงจากระดับ 108.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ด้าน ดัชนีความเชื่อมั่นฯรายภูมิภาค ประจำเดือนมีนาคม พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวลดลงทุกภาค ภาคกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 97.6 ลดลงจากระดับ 99.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาท และราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังคงต้อง วางแผนการผลิตเพื่อรองรับสถานการณ์ไฟฟ้าที่อาจไม่เพียงพอจากการที่ประเทศพม่าหยุดส่งก๊าซให้แก่ไทยในช่วงเดือนเมษายน ทั้งนี้อุตสาหกรรมในภาคกลางที่มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ, อุตสาหกรรมซอฟแวร์, อุตสาหกรรมเครื่องสำอางค์ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.1 ลดลงจากระดับ 104.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 83.9 ปรับตัวลดลง จากระดับ 84.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวมและต้นทุนประกอบการ โดยผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อต้นทุนการผลิต รวมทั้งราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนสถานการณ์ภัยแล้งในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ ที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรซึ่งเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือและไร้ฝีมือ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่มีค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมเซรามิก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 95.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 94.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 80.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 82.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยปัจจัยลบที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ต้นทุนวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน ราคาพลังงาน ตลอดจนสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่กระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ, อุตสาหกรรมเทคโนโลยชีวภาพและหัตถอุตสาหกรรม เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.4 ลดลงจากระดับ 101.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ภาคตะวันออก ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 104.4 ลดลงจากระดับ 107.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และ ผลประกอบการ แต่แม้ค่าดัชนีของภาคตะวันออกจะปรับตัวลดลง แต่ยังมีค่าเกิน 100 แสดงว่าผู้ประกอบการยังคงมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการอยู่ในระดับที่ดี สำหรับปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการดำเนินกิจการในเดือนมีนาคมได้แก่ ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการส่งออก ปัญหาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มยูโรโซน ขณะที่ปริมาณกระแสไฟฟ้าอาจไม่เพียงพอ จากการที่พม่าจะหยุดส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่ไทยในช่วงเดือนเมษายน ทำให้ผู้ประกอบการต้องวางแผนการผลิตเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเคมี, อุตสาหกรรมปิโตรเคมี, อุตสาหกรรรมพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.6 ลดลงจากระดับ 107.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ และภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 93.5 ลดลงจากระดับ 95.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยความกังวลของผู้ประกอบการที่ส่งผลลบต่อระดับความเชื่อมั่นในเดือนมีนาคมที่สำคัญ ได้แก่ ต้นทุนการผลิตและราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น การแข็งค่าของเงินบาท ขณะที่เหตุการณ์ความรุนแรงต่อเนื่องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินกิจการในพื้นที่ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร, อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.9 ลดลงจากระดับ 102.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลงได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากผลการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯปรับตัวลดลงทั้ง 2 กลุ่ม กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 94.2 ลดลงจาก 95.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีที่ลดลงได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องสำอางค์, อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ, อุตสาหกรรมรองเท้าเป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.7ลดลงจากระดับ 102.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนมีนาคมอยู่ที่ระดับ 89.9 ลดลงจากระดับ 98.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีที่ลดลงได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร, อุตสาหกรรมเครื่องประดับและผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้นขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 97.1 ลดลงจากระดับ 107.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม พบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนมากที่สุด รองลงมา คือ สภาวะเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน สถานการณ์การเมืองในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นในปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยน สภาวะเศรษฐกิจโลกและการเมืองภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนมีนาคมนี้ คือ ภาครัฐควรเข้ามาดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพไม่ผันผวนแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง ควรมีการส่งเสริมและสนับสนุนการประหยัดพลังงานรวมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่เหมาะสมในภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและพัฒนาคุณภาพแรงงาน รวมถึงเข้ามาแก้ปัญหาราคา ปริมาณ และคุณภาพวัตถุดิบสินค้าเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำอย่างเป็นระบบด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ