กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
“แสงแดดที่ร้อนจนท้อ คืออุปสรรคในการสร้างค่ายอาสาพัฒนาเฉลิมพระเกียรติ (ภาคฤดูร้อน) โรงเรียนวัดหนองปลาดุก จ.ลพบุรี” เสียงของ “พีท” นายนครินทร์ เสร็จกิจ ประธานค่ายและประธานชมรมอาสาพัฒนาเฉลิมพระเกียรติ (ภาคฤดูร้อน) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เล่าถึงโครงการการสร้างอาคารเรียน โรงเรียนวัดหนองปลาดุก จ.ลพบุรี
ผศ.ณัฐ แก้วสกุล ที่ปรึกษาชมรมราชมงคลอาสาพัฒนาเฉลิมพระเกียติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เล่าว่า ในการออกค่ายของนักศึกษามาจากหลายสาขาวิชา ทุกคนมีความพร้อมและความอดทนไม่เหมือนกัน บางคนไม่เคยทำอะไรมาก่อน เมื่อเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่ม ทุกคนต้องทำ เริ่มจากงานง่ายๆ ไปจนงานที่ต้องใช้แรง ซึ่งบางคนไม่เคยออกค่ายมาก่อน มาแล้วไม่ยอมทำงานค่าย โดยหน้าที่ต้องตกมาเป็นของอาจารย์ที่ปรึกษาที่ต้องทำความเข้าใจ คอยสอนคอยให้คำแนะนำ “เด็กค่ายที่มาทุกคนต้องมาเรียนรู้” ทุกคนที่ออกค่ายมาด้วยใจ มาด้วยคำว่า “จิตอาสา” สำหรับโครงการออกค่ายอาสาพัฒนาเฉลิมพระเกียรติ (ภาคฤดูร้อน) โรงเรียนวัดหนองปลาดุก จ.ลพบุรี ได้รับหนังสือจากสำนักราชเลขาธิการ เรื่อง ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานอาคารเรียนโรงเรียนวัดหนองปลาดุก สมเด็จพระเทพรัตนาราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างอาคารเรียน 2 ชั้น ขนาด 4 ห้องเรียน จำนวน 1 อาคาร เพื่อให้นักเรียนที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์อุทกภัย ปี 2554 ได้มีอาคารเรียน
อาคารเรียนที่ผ่านมา จะมีลักษณะเป็นอาคารเรียนชั้นเดียว แต่สำหรับอาคารเรียนหลังนี้ 2 ชั้น ในเรื่องของโครงสร้างตัวอาคารจึงต้องอาศัย ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ เข้ามาช่วยในส่วนนี้ ค่ายนี้จะมีลักษณะแตกต่างจากค่ายที่ผ่านมา เรื่องของอากาศที่ร้อน เนื่องจากเป็นช่วงฤดูร้อน เป็นอุปสรรคในการทำงาน เริ่มทำงานประมาณ 08.00-17.00 น. ในช่วงพักกลางวันจะใช้เวลาในการพักผ่อนเยอะ เนื่องจากบางคนอาจจะอ่อนล้าจากแสงแดด ชมรมราชมงคลอาสาพัฒนาเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ได้ถวายงานสมเด็จพระเทพรัตนาราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ชาวค่ายทุกคนภาคภูมิใจที่ได้ถวายงานในพระองค์ท่าน
นายรุ่งศักดิ์ โพธิ์ช่วย ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดหนองปลาดุก เล่าว่า โรงเรียนเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดเขตพื้นที่การศึกษาลพบุรีเขต 1 เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึงชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 ศูนย์กลางการเรียนเขตบริการ 4 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 13 บ้านหนองละแหง หมู่ที่ 14 บ้านหนองปลาดุก หมู่ที่ 15 บ้านหัวดอ และหมู่ที่ 16 บ้านหนองกระดี่ โดยโรงเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนของชาวบ้านทั้ง 4 หมู่ ผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัย ปี 2554 ทางโรงเรียนได้รับความเสียหายด้านสถานที่ และภูมิทัศน์ของโรงเรียน โดยระดับน้ำสูงถึง 3.50 เมตร เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทราบข่าวจึงพระราชทานความช่วยเหลือโรงเรียนโดยทรงพระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์ สร้างอาคารเรียน งบประมาณ 2,700,000 บาท เพื่อใช้เป็นอาคารเรียนของนักเรียนและใช้เป็นที่พักพิงของราษฎรที่ประสบอุทกภัย เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม
“พีท” นายนครินทร์ เสร็จกิจ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิศวกรรมโยธา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ประธานค่ายและชมรมราชมงคลอาสาพัฒนาเฉลิมพระเกียติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เล่าว่า สำหรับสมาชิกชาวค่ายครั้งนี้ มีสมาชิกประมาณ 50 คน เนื่องจากอาคารเรียนหลังนี้มีลักษณะสองชั้น จึงต้องอาศัยช่างที่มีความเชี่ยวชาญขึ้นโครงสร้าง แต่งานต่างๆ ยังเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นการจั่วหลังคาที่ต้องขึ้นเชื่อม ซึ่งโครงสร้างของจั่วได้เตรียมมาจากมหาวิทยาลัยฯ งานทาสีและงานปรับพื้นดินส่วนใหญ่ผู้หญิงจะทำ ค่ายนี้จะแตกต่างกับค่ายอื่นที่ผ่านมา เนื่องจากค่ายที่ผ่านมาเริ่มที่ความว่างเปล่า ไม่มีอะไรเลย แต่ค่ายนี้เป็นอาคารสองชั้นต้องอาศัยช่างที่ชำนาญงาน การทำงานร่วมกับช่าง แต่เป็นผลดีที่ได้เรียนรู้ความรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ จากช่าง “อากาศร้อนมาก” อุปสรรคที่ทำให้ชาวค่ายบางคนท้อแท้ แต่งานก็ผ่านไปได้ด้วยดี ประธานค่ายต้องเป็นผู้นำของสมาชิกชาวค่าย หลังจากดำเนินงานทุกวัน จะมีการสรุปงานทุกครั้ง
“ปัต” นางสาววิมลวรรณ สุวรรณรักษ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาระบบสารสนเทศ คณะบริหารธุรกิจ เล่าว่า ครั้งแรกที่มาค่าย เนื่องจากมีเวลาช่วงปิดเทอมนาน งานที่ทำคือซักผ้าให้เพื่อน แบ่งเบาภาระชาวค่าย เดินเซริฟ์น้ำให้ไซส์งาน ช่วยงานครัว มาค่ายครั้งนี้ทำให้รู้จักเพื่อนมากขึ้น ได้รู้จักเพื่อนต่างสาขา “สังคมของค่ายอาสาเป็นอีกสังคมหนึ่ง ที่คนมีความคิดเหมือนกัน มาทำสิ่งที่ชอบเหมือนกัน” เรียนรู้การใช้ชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง นอกเหนือจากชีวิตของนักศึกษามหาวิทมยาลัยฯ
“บิ๊ก” นายปิยะรัฐ เตชะพร้อมวุฒิ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เล่าว่า เนื่องจากได้มีโอกาสเข้ามาทำงานกับอาจารย์ณัฐ ในการซ่อมแซมเครื่องเล่นโรงเรียนประสบอุทกภัย จ.ลพบุรี ได้มีโอกาสเข้ามาทำงานช่วยงานอาจารย์ จึงตัดสินใจมาค่ายนี้ หน้าที่ในค่ายนี้ คือ การจั่วเชื่อมหลังคา อากาศร้อนมาก เนื่องจากขึ้นไปอยู่บนที่สูง แต่ไม่เป็นอุปสรรค มีประสบการณ์มาจากการทำงาน รู้ว่าควรทำอะไรก่อนหลัง ได้นำวิชาความรู้มาใช้ และยังได้มาศึกษางานช่างอีกหลายรูปแบบ เช่น งานโยธา การผสมปูน ทุกครั้งที่ได้มาเห็น หน้าตาของน้องๆ ที่ได้เห็น อาคารเรียนใหม่ รอยยิ้ม เห็นแล้วมันคือความสุข จิตอาสาเป็นเรื่องใกล้ตัว ใครๆ ก็สามารถทำได้
“แทน” เด็กชายภัทรพล ถาวร นักเรียนชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 4 โรงเรียนวัดหนองปลาดุก เล่าว่า ตอนเช้าปั่นจักรยานมากับพี่ ชอบเรียนวิชาศิลปะ ได้วาดรูป ตอนที่โรงเรียนน้ำท่วมมาเรียนไม่ได้ ตอนนั้นได้หยุดเรียน สงสารโรงเรียน อยากมานั่งเรียน แต่เมื่อน้ำลด มาช่วยคุณครูและเพื่อน ทำความสะอาดโรงเรียน อาคารเรียนเสียหาย เรียนไม่ได้ ดีใจที่พี่มาช่วยสร้างโรงเรียน มาช่วยพี่ๆ ทุกวัน ช่วยเก็บขยะ และช่วยทำอาหาร ได้โรงเรียนใหม่ สวยกว่าเดิม สองชั้น ใหญ่ อยากให้โรงเรียนมีคอมพิวเตอร์เยอะๆ
ไม่ว่าอากาศของประเทศไทยจะร้อนเท่าใด แต่ด้วยความมุ่งมั่นของจิตอาสา ต้องการสร้างอาคารเรียนสำหรับน้องๆ โรงเรียนวัดหนองปลาดุก จ.ลพบุรี ให้น้องๆ ได้มีอาคารเรียน เพิ่มโอกาสทางการศึกษา ชื่นชมในความกล้าและความเสียสละของชาวชมรมราชมงคลอาสาพัฒนาเฉลิมพระเกียติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ทุกคน