กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--ก.ส.ล.
สำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (ก.ส.ล.) ในฐานะผู้กำกับดูแลการปฏิบัติงานของตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) ให้โปร่งใส เป็นที่น่าเชื่อถือ โดย ก.ส.ล. เน้นการกำกับ และตรวจสอบการปฏิบัติงานของ AFET โดยให้ AFET นำส่งรายงานและข้อมูลฐานะทางการเงินเป็นรายไตรมาสแก่ ก.ส.ล. (Offsite Supervision) รวมถึงข้อมูลตามที่ ก.ส.ล. ร้องขอ เพื่อใช้ติดตามและวิเคราะห์ความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด อีกทั้งเน้นการตรวจสอบการปฏิบัติงาน ณ สถานที่ทำการ (Onsite Supervision) ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการซื้อขายล่วงหน้า และสำนักหักบัญชี ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญในการประกอบกิจการตลาดของ AFET โดย ก.ส.ล. ได้นำหลักการกำกับดูแล หรือ Core principles ของ Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ล่วงหน้าของประเทศสหรัฐอเมริกา มาปรับใช้เพื่อให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย
นายวันชัย ผโลทัยถเกิง เลขาธิการคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้ากล่าวว่า “จากการตรวจสอบ Onsite Supervision ในปี 2555 ที่ผ่านมา ก.ส.ล. ได้ตรวจสอบการปฏิบัติงานของ AFET ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสำนักหักบัญชี โดยคัดเลือก 10 หลักการที่สำคัญ ได้แก่ (1) โครงสร้าง นโยบาย ขอบเขตอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของสำนักหักบัญชี (2) แหล่งเงินทุนเพื่อรองรับความเสียหาย (3) มาตรฐานสมาชิกสำนักหักบัญชี (4) การบริหารความเสี่ยง (5) กระบวนการชำระราคาและหักบัญชี (6) การรักษาเงินและทรัพย์สินของสมาชิก ลูกค้า (7) กฎระเบียบและกระบวนการดำเนินงาน เมื่อสมาชิกมีการผิดนัดชำระหนี้หรือล้มละลาย (8) การบังคับใช้กฎระเบียบ (9) การป้องกันความเสียหายต่อระบบ และ (10) การจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ”
สำหรับปี 2556 นี้ ก.ส.ล. ได้กำหนดแผนงานเข้าตรวจสอบการปฏิบัติงานของ AFET ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายล่วงหน้า โดยเน้นวัตถุประสงค์และกรอบการปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรมเป็นหลัก เช่น การออกแบบข้อตกลงซื้อขายล่วงหน้า และการพิจารณาสินค้าที่ซื้อขายใน AFET ที่ไม่เอื้อให้เกิดการสร้างราคา (Contract Not Readily Subject to Manipulation) การจำกัดสถานะการถือครอง (Position Limitations or Accountability) การเผยแพร่ข้อมูลการซื้อขายประจำวัน (Daily Publication of Trading Information) การป้องกันความเสี่ยงจากการปฏิบัติงาน (Operation Risk) ซึ่งรวมถึงการป้องกันความเสียหายต่อระบบการ ซื้อขายล่วงหน้า (System Safeguards)
“การเพิ่มมาตรการที่เข้มงวดในการกำกับดูแล จะช่วยให้การดำเนินงานของ AFET มีมาตรฐานพร้อมรองรับการซื้อขายที่เพิ่มขึ้น ตามแนวทางมาตรฐานสากล” นายวันชัยกล่าวทิ้งท้าย
เผยแพร่ในนาม สำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (ก.ส.ล.)
หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข่าวเผยแพร่ฉบับนี้
กรุณาติดต่อที่ศูนย์สารสนเทศและเสริมสร้างความรู้
โทรศัพท์ 0-2685-3250 ต่อ 204 โทรสาร 0-2685-3259
หรือ http://www.aftc.or.th