กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านสารสนเทศและการสื่อสาร ระหว่างกองทัพอากาศ กับกระทรวงไอซีที บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. ว่า การร่วมมือกันในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือด้าน ICT ของทั้ง 5 หน่วยงานเพื่อต่อยอดการพัฒนาในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างบุคลากรของทั้ง 5 หน่วยงาน โดยมุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สำหรับการร่วมมือดังกล่าวนี้กองทัพอากาศได้มอบหมายให้ กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทหารอากาศ และโรงเรียนนายเรืออากาศเป็นผู้ดำเนินการประสานงานความร่วมมือในด้านต่างๆ ได้แก่ การสนับสนุนให้ใช้พื้นที่และระบบไฟฟ้าในการติดตั้งเรดาร์ SPEXER 1000 และในกรณีเกิดเหตุภัยพิบัติกองทัพอากาศจะให้การสนับสนุนให้ใช้ ท่าอากาศยานหรือระบบ Video down link รวมทั้งให้ความร่วมมือในการเชื่อมต่อข้อมูลการเตือนภัยจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติและกรมอุตุนิยมวิทยา ผ่านเครือข่ายการสื่อสารของกองทัพอากาศทั้งในระบบเสียง และRDS (Radio Data System)
ในขณะเดียวกันกระทรวงไอซีทีก็จะสนับสนุนกองทัพอากาศในเรื่องข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมและข้อมูล GIS อีกทั้งยังสนับสนุนเครือข่ายดาวเทียมภาครัฐเพื่อเป็นเครือข่ายสำรอง สำหรับการปฏิบัติการทางอากาศในกรณีช่วยเหลือประชาชน สำหรับ ทีโอที และ กสทฯ ทั้ง 2 หน่วยงานจะให้การสนับสนุนเครือข่ายการสื่อสารในพื้นที่ที่กองทัพอากาศไม่มีเครือข่ายเพื่อเชื่อมต่อสัญญาณข้อมูลภาพ (Video Down Link) สนับสนุนการเช่าใช้ Leased Line ความปลอดภัยสูงสำหรับเครือข่ายสำรองให้กับระบบโทรคมนาคม และให้เช่าสัญญาณอินเทอร์เน็ตทั้งในพื้นที่ดอนเมืองและที่ตั้งต่างจังหวัด พร้อมทั้งให้เช่าใช้สถานที่หรือพื้นที่จัดเก็บข้อมูลหรือ RACK เพื่อติดตั้งอุปกรณ์ในห้อง DATA Center เพื่อใช้เป็น DATA Center สำรองของกองทัพอากาศ โดยทีโอทีและกสทฯ จะคิดค่าบริการในราคาที่เหมาะสม นอกจากนั้น สรอ. ยังจะให้การสนับสนุนบริการเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (Government Information Network : GIN) ให้กับกองทัพอากาศทั้งในพื้นที่ดอนเมืองและที่ตั้งต่างจังหวัด รวมถึงบริการด้านสารสนเทศอื่นๆ ที่ สรอ. ให้บริการอยู่อีกด้วย
ทั้งนี้ หน่วยงาน 5 ฝ่าย จะต้องร่วมมือสนับสนุนในส่วนงานที่แต่ละฝ่ายเกี่ยวข้อง ได้แก่ การร่วมมือสนับสนุน การทดสอบความพร้อมของระบบสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ และฝึกซ้อมความร่วมมือตามแผนเผชิญเหตุการณ์ภัยพิบัติ การร่วมมือสนับสนุนบุคลากร การใช้สถานที่ เครื่องมือและอุปกรณ์ ในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน และระบบ Wi-Fi ในชุมชนกองทัพอากาศ การร่วมมือสนับสนุนพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษา การวิจัยและพัฒนา การฝึกอบรม ที่เกี่ยวข้องกับ ICT และกิจการในด้านอวกาศ การร่วมมือสนับสนุนด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลบนเครือข่าย (Cyber Security) ในทุกๆ ด้านที่เกี่ยวข้อง และการร่วมมือสนับสนุนส่งเสริมด้านวิชาการในการประยุกต์ใช้ประโยชน์ จากเทคโนโลยีอวกาศและบริบทที่เกี่ยวข้องร่วมกัน
“บันทึกข้อตกลงฉบับนี้ นอกจากจะเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการใช้ประโยชน์จาก ICT ของประเทศแล้ว ยังจะเป็นก้าวสำคัญในการแสดงถึงความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน โดยมุ่งเน้นถึงประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว
ติดต่อ:
PR.MICT 02-141-6747