กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--no name imc
รพ.จุฬารัตน์ 3 เปิดศูนย์หัวใจและหลอดเลือดครบวงจรแห่งเดียวในสมุทรปราการ เตือน! “เจ็บแน่นหน้าอก-ลิ้นปี่-รู้สึกจะเป็นลม” 3 สัญญาณร้ายหัวใจวายเฉียบพลัน
รพ.จุฬารัตน์ 3 เปิดศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด Safe Heart Center รักษาโรคหัวใจแบบครบวงจรแห่งเดียวในสมุทรปราการ รองรับกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น ชูศักยภาพเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย พร้อมทีมแพทย์หัวใจและทีมผู้เชี่ยวชาญตลอด 24 ชั่วโมง ติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง พร้อมเปิดสายด่วน 1609 Heart Hot line ช่วยเหลือผู้ป่วยหัวใจและหลอดเลือดในกรณีฉุกเฉิน โดยจะมีทีมช่วยเหลือถึงที่ไปพร้อมกับรถ Mobile CCU ทันทีที่ได้รับแจ้งตลอด 24 ชั่วโมง
พิธีเปิดศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด Safe Heart Center โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 เทพารักษ์ ได้รับเกียรติจาก นายคณิต เอี่ยมระหงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วย นพ.กำพล พลัสสินทร์ ประธานกรรมการกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ โดยภายในงานได้จัดเสวนา เรื่อง “กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด...ระเบิดเวลาร้ายคร่าชีวิต” เพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้ป่วยรู้จักวิธีรับมือกับภาวะฉุกเฉินของหัวใจวายเฉียบพลัน โดยทีมแพทย์ศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด Safe Heart Center โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 โดยมีประชาชนผู้สนใจและแขกผู้มีเกียรติในแวดวงสังคมร่วมงานคับคั่ง อาทิ หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล, หญิงนุ่น-ม.ร.ว.สุทธิภาณี ยุคล, คุณติ๊ก-อภิภาวดี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, คุณหนิง-ศรัยฉัตร กุญชร ณ อยุธยา จีระแพทย์ และ คุณมะปราง-ปัทมวดี เสนาณรงค์ เป็นต้น
ระวัง!! จุกแน่นหน้าอก หรือลิ้นปี่ เหมือนจะเป็นลม สัญญาณร้ายหัวใจวายเฉียบพลัน รีบพบแพทย์ด่วน
นพ.กำพล พลัสสินทร์ ประธานกรรมการกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรคหัวใจคร่าชีวิตคนไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง โดยข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ปี 2553 มีคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงถึง 39,459 คน และยังพบว่าจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องความชุกในรอบ 10 ปี เพิ่มขึ้นจาก 100 คน เป็น 400 คน ต่อประชาการแสนคน (ข้อมูลจากสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างปี 2543-2552) และปัจจุบันพบจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจกว่า 2.5 แสนราย ขณะที่จังหวัดสมุทรปราการก็มีแนวโน้มการขยายตัวของผู้ป่วยโรคหัวใจเช่นกัน โดยจากสถิติมีผู้ป่วยประมาณ 1,700 คนต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งการเปิดศูนย์หัวใจและหลอดเลือด รพ.จุฬารัตน์ 3 เทพารักษ์นี้ จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคหัวใจที่อาศัยในจังหวัดสมุทรปราการและใกล้เคียง เข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพอย่างทันท่วงที
นพ.กำพล พลัสสินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคหัวใจเป็นโรคที่สามารถเกิดได้กับคนทุกฐานะ ไม่เกี่ยวว่ารวยแล้วจะรอดชีวิต อัตราการรอดชีวิตจะขึ้นอยู่กับว่า หากมีอาการแล้วได้รับการรักษาได้ฉับไวทันต่อเวลาหรือไม่ เพราะกล้ามเนื้อหัวใจ หากตายแล้วตายเลยไม่สามารถสร้างใหม่ได้ เพราะฉะนั้น หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หรือลิ้นปี่ รู้สึกจะเป็นลม ต้องรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ซึ่งถ้าโรงพยาบาลนั้นมีเครื่องสวนหัวใจ ก็จะสามารถทำการสวนหัวใจได้ทันที หรือโทรเรียกรถพยาบาลมารับ ซึ่งปัจจุบันมีรถพยาบาล Mobile CCU ที่มีอุปกรณ์ช่วยชีวิต และเครื่องมือทางหัวใจครบเปรียบเสมือนการยกโรงพยาบาลและแพทย์ มายังที่เกิดเหตุและทำการรักษาเลย เพราะโรคหัวใจต้องรักษาทันที เนื่องจากอันตรายถึงชีวิต
“แต่เดิมในจังหวัด สมุทรปราการ ยังไม่มีโรงพยาบาลใดมีห้องสวนหัวใจ ทำให้เมื่อมีผู้ป่วย ฉุกเฉิน ร้ายแรงจำเป็น ต้องส่งตัวไปรักษาในกรุงเทพ แต่ต่อไปนี้ชาวสมุทรปราการไม่ต้องกังวลว่า เป็นโรคหัวใจขาดเลือดต้องเสียเวลาส่งไปรักษาไกลๆ เพราะศูนย์หัวใจและหลอดเลือด (CATHLAB) โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 เทพารักษ์ เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในจังหวัดสมุทรปราการ ที่สามารถสวนขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูนและขดลวด โดยทีมแพทย์หัวใจและทีมผู้เชี่ยวชาญตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมีสายด่วน 1609 Heart Hot line ที่เปิดบริการช่วยเหลือผู้ป่วยหัวใจและหลอดเลือดในกรณีฉุกเฉินไม่ว่าผู้ป่วยจะอยู่ที่ไหน หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หรือลิ้นปี่ รู้สึกจะเป็นลมควรรีบพบแพทย์ หรือโทรสายด่วนจะมีทีมช่วยเหลือถึงที่ไปพร้อมกับรถ Mobile CCU ทันทีที่ได้รับแจ้ง พร้อมปฏิบัติงานช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีแพทย์หัวใจดูแลตลอด 24 ชั่วโมงเช่นกัน ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 ยังเสนอให้มีบริการปรึกษาด้านหัวใจนอกเวลาให้กับโรงพยาบาลใกล้เคียงที่ขาดแพทย์หัวใจอีกด้วย ต่อไปนี้ผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับหัวใจ ถ้าไปตรวจแล้วพบว่าเป็นโรคหัวใจไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลที่ไหนในสมุทรปราการ ก็สามารถส่งมารักษาที่ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 เทพารักษ์ ได้เพื่อช่วยเหลือในการวินิจฉัยและรักษาโรคหัวใจได้อย่างทันท่วงที” นพ.กำพล พลัสสินทร์ กล่าวและเสริม
“กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด...ระเบิดเวลาร้ายคร่าชีวิต”
นพ.ไพศาล กอบเกื้อชัยพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 กล่าวว่า ปัจจุบันแนวโน้มผู้ป่วยโรคหัวใจในปัจจุบันมีอายุเฉลี่ยน้อยลง สาเหตุเกิดจากการที่มีเนื้อเยื่อไขมัน ผสมพังพืดจับตัวเป็นแผ่นนูน หรือ พลัค (Plaque) ตามผนังชั้นใน ของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้เส้นผ่าศูนย์กลางเล็กลง ผลคือ กล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่เลี้ยงโดยหลอดเลือดนั้น ได้รับเลือดไม่เพียงพอ เกิดอาการแน่น เจ็บหน้าอก โดยเฉพาะเวลา
ออกกำลัง โดยมีทั้งปัจจัยเสี่ยงกระตุ้นที่ควบคุมป้องกันได้ เช่น ภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน บุหรี่ ความเครียด อ้วน ขาดการออกกำลังกาย ส่วนปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น อายุ ที่เพิ่มขึ้น เพศ และพันธุกรรม โดยความเสี่ยงจะมีมากขึ้น ในเพศชายที่อายุ มากกว่า 45 ปี ส่วนเพศหญิงอายุมากกว่า 55 ปี แต่ในผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ หรือ สูบบุหรี่ เป็นโรคความดันสูง ไขมัน เบาหวาน อาจต้อง ระมัดระวัง และตรวจหัวใจในอายุที่น้อยกว่านั้น เป็นต้น
“โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นเสมือนระเบิดเวลาร้ายคร่าชีวิตคนเรา เบื้องต้นผู้ป่วยโรคหัวใจจะมีอาการ เจ็บแน่นหน้าอก ขณะออกแรง ต่อมาเมื่อมีการตีบของเส้นเลือดมากขึ้น จะมีอาการเจ็บหน้าอกได้ แม้ในขณะพัก จนในที่สุดเมื่อเกิดการตันสนิทจนกล้ามเนื้อหัวใจไม่ทำงาน จะทำให้เจ็บหน้าอก รุนแรง หน้ามืด เป็นลม หัวใจวายและเสียชีวิตเฉียบพลันได้ อย่างไรก็ตามในบางคนการดำเนินโรค อาจไม่เป็นไปตามลำดับ บางคนอาจเกิดเส้นเลือดตันสนิททันที ทำให้เสียชีวิตเฉียบพลันโดยไม่มีอาการเตือนได้ ดังที่อาจเคยได้ยินข่าวจากสื่อต่างๆ อยู่บ่อยๆ” นพ.ไพศาล กอบเกื้อชัยพงษ์ กล่าว
ทำอย่างไรให้หัวใจปลอดภัย ปลอดโรค
นพ.ไพศาล กอบเกื้อชัยพงษ์ กล่าวแนะนำว่า แนวทางการรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในปัจจุบันมี 3 วิธี คือ การรับประทานยา การฉีดสีสวนรักษาหัวใจ และการผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจ เบื้องต้นแพทย์จะทำการรักษาโดยการทานยา แต่หากอาการไม่ทุเลา จำเป็นต้องทำการฉีดสีเส้นเลือดหัวใจต่อไป ซึ่งการฉีดสีมีข้อดี ที่สามารถทราบได้ทันทีว่าเส้นเลือดตีบ จำนวนกี่เส้น ตีบบริเวณตำแหน่งใด หากมีการตีบจะสามารถรักษาได้ทันโดยใช้บอลลูนขยาย และใส่ขดลวดค้ำยันได้ต่อเนื่องทันที
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทางที่ดีเราควรปกป้องหัวใจให้ห่างจากโรคหัวใจขาดเลือด โดยต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น หากเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูงต้องทานยาต่อเนื่อง หากมีไขมันในเลือดสูง ต้องปรับเปลี่ยนเรื่องอาหาร เลิกบุหรี่ ลดน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ต้องผ่อนคลายความเครียด พักผ่อนเพียงพอ และหมั่นตรวจสุขภาพหัวใจอย่างสม่ำเสมอ จะเป็นวิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพหัวใจ
ผู้มีปัญหาโรคหัวใจ โทร.สายด่วนหัวใจและหลอดเลือดจุฬารัตน์ 1609 Heart hotline ซึ่งจะเปิดให้บริการภายในเดือนพฤษภาคม 2556 นี้