กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--กรมประมง
กรมประมงเดินแผนฟู้ดเซฟตี้ปี 48 เร่งเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเข้าสู่ระบบมาตรฐาน ตั้งเป้า 13,000 ฟาร์ม สำหรับฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามเน้นต้องเข้าระบบไม่น้อยกว่า 2,000 ฟาร์ม หวังเปิดตลาดส่งออกมากขึ้น และใช้เป็นจุดแข็งต่อรองราคา เชื่อทำให้ได้เปรียบคู่แข่ง
นายสิทธิ บุณยรัตผลิน อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2546 ที่ผ่านมา กรมประมงได้ดำเนินการในโครงการความปลอดภัยด้านอาหารประมง (Food Safety) เพื่อควบคุมมาตรฐานและสุขอนามัยสินค้าสัตว์น้ำให้ประชาชนได้บริโภคอย่างปลอดภัยและเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันในส่วนของสินค้าส่งออกตามนโยบายรัฐบาล โดยในปี 2548 กรมประมงเน้นหนักในการตรวจรับรองฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเพื่อให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม เพื่อผลักดันให้เป็นสินค้าสัตว์น้ำส่งออกที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง และสร้างโอกาสในการขยายตลาดมากขึ้น
ทั้งนี้ การส่งออกกุ้งก้ามกรามของไทยในปี 2546 มีปริมาณทั้งสิ้น 2,650,062 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าประมาณ 645.70 ล้านบาท และในปี 2547 มีการส่งออกทั้งสิ้น 3,943,628 ตัน มูลค่าประมาณ 803.62 ล้านบาท
ด้านนางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กล่าวว่า ในปีนี้ได้ตั้งเป้าให้ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเข้าระบบมาตรฐานทั้งในระบบ GAP และ ระบบ Safety Level ทั้งสิ้นรวม 13,000 ฟาร์ม โดยเฉพาะในส่วนของฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามจะต้องเข้าสู่ระบบ GAP ทั้งหมด จำนวนทั้งสิ้น 2,200 ฟาร์ม เพื่อผลักดันให้มีการส่งออกมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา กลุ่มประเทศผู้นำเข้ายังกังวลในเรื่องของสารตกค้างและไม่มั่นใจในคุณภาพกุ้งก้ามกรามของไทย
ทั้งนี้ ในขณะนี้ได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด และสถานีประมงน้ำจืดทุกจังหวัดทั่วประเทศเร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมาขึ้นทะเบียนฟาร์ม เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เข้าไปตรวจสอบและรับรองฟาร์มเพาะเลี้ยงได้อย่างถูกต้อง รวมไปถึงการให้ความรู้และคำแนะนำในการจัดการฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อให้เข้าสู่ระบบมาตรฐาน สำหรับมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนั้น แบ่งออกเป็น 2 ระบบคือ ระบบ GAP ดำเนินการในกลุ่มสัตว์น้ำที่เลี้ยงในเชิงพาณิชย์ เช่น กุ้งก้ามกราม ปลานิล เป็นต้น และ ระบบ Safety Level จะดำเนินการในกลุ่มสัตว์น้ำที่เลี้ยงเพื่อการบริโภคภายในประเทศ
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สินค้าสัตว์น้ำจืดของไทยหลายชนิดที่มีศักยภาพในการส่งออก อาทิ กุ้งก้ามกราม ปลานิล ปลาโมง ซึ่งผลผลิตบางส่วนยังติดปัญหาเรื่องสารตกค้างและสิ่งปนเปื้อน ทำให้ประเทศผู้นำเข้าไม่มั่นใจในสินค้า ดังนั้น หากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดสามารถพัฒนาและปรับปรุงระบบการจัดการฟาร์มจนเข้าสู่มาตรฐาน เชื่อว่าจะทำให้ประเทศผู้นำเข้ามีความมั่นใจในสินค้าประมงของไทยมากขึ้น ทั้งยังสามารถสร้างโอกาสในการเปิดตลาด และเป็นจุดแข็งที่ใช้ในการต่อรองราคาได้เป็นอย่างดีอีกด้วย--จบ--