กรุงเทพฯ--22 เม.ย.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี
องค์การอนามัยโลกยกให้โรคไข้เลือดออกเป็นโรคเขตร้อนที่แผ่ขยายออกไปเร็วที่สุดของโลก แต่ละปีมีผู้ป่วยสูงถึง 300 ล้านคน มากกว่าที่องค์การคาดประมาณไว้ถึง 3 เท่า สาเหตุที่ยอดผู้ป่วยมีจำนวนสูงอันหนึ่งอาจเป็นเพราะคนคนหนึ่งอาจจะป่วยกัน ได้หลายหน ครั้งแรกอาจจะป่วยอย่างอ่อน แต่ภายหลังอาจจะป่วยหนักกว่าเก่าก็ได้ ถ้าหากโดนยุงที่เป็นพาหะโรคกัดเข้าอีก
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ตั้งเป้า “สร้างชุมชนต้นแบบปลอดลูกน้ำยุงลาย” ทั่วประเทศป้องกันไข้เลือดออก ตำบลละ 1 หมู่บ้าน เน้นกิจกรรม 5 ป. ปราบยุงลาย “ปิด-เปลี่ยน-ปล่อย-ปรับปรุง-ปฏิบัติเป็นประจำ” และ 1 ข. ขัดไข่ยุงลาย โรคไข้เลือดออก ถือเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขและการแพทย์ ล่าสุดสำนักระบาดวิทยากรมควบคุมโรค ประเมินสถานการณ์ว่าปีนี้จะรุนแรงกว่าปีที่แล้ว จากรายงานจำนวนผู้ป่วยตั้งแต่ 1 ม.ค. - 5 มี.ค.2556 รวม 11,565 ราย เฉลี่ยสัปดาห์ละกว่า 1,000 ราย และ มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 14 ราย ปัจจัยที่สนับสนุนการระบาดของโรค คือ ฝนที่ตกเป็นช่วงๆ ถือเป็นการเติมน้ำในภาชนะ ที่อาจมีไข่ยุงลายสะสมอยู่ตามขอบภาชนะจำนวนมาก ประกอบกับสภาพที่อาจมีภาวะภัยแล้ง ทำให้ประชาชนเกิดพฤติกรรมการกักเก็บน้ำในภาชนะ ก็ยิ่งทำให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพิ่มขึ้นอีกเช่นกัน นิสัยยุงลายเป็นยุงสะอาด ไข่ในน้ำนิ่งใส “ไม่ไข่” ในน้ำเน่าเสียหรือท่อระบายน้ำ ซึ่งที่เหล่านั้นเป็นที่เพาะพันธุ์ของยุงรำคาญ ไม่นำโรคไข้เลือดออก แต่ยุงลายไม่ได้ไข่ในน้ำโดยตรง แต่จะไข่เหนือระดับน้ำ 1-2 เซนติเมตร เมื่อมีน้ำมาเติมท่วมจึงจะแตกตัวเป็นไข่ เป็นลูกน้ำ และเป็นยุงลายตัวเต็มวัยต่อไปใช้เวลาทั้งหมด 7-10 วัน
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือโรคไข้เลือดออกภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันที่ 2 พฤษภาคม2556 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับ สำนักงานป้องันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา สำนักงานป้องันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดขอนแก่น และสำนักจัดการความรู้ ได้ร่วมจัดทำโครงการมหกรรมรณรงค์โรคไข้เลือดออกระดับจังหวัดและระดับภาค “ภูมิปัญญาไทย ต้านภัยไข้เลือดออก” ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ ห้องประชุมสุนีแกรนด์ &คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เพื่อพัฒนาเครือข่ายในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคไข้เลือดออก สร้างหมู่บ้านปลอดไข้เลือดออก กระตุ้นให้ประชาชนมีความตระหนักต่อโรคไข้เลือดออก ตลอดจนสามารถป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกในชุมชนได้อย่างเข้มแข็ง เพื่อเตรียมรับมือโรคไข้เลือดออกในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพฉะนั้น จำเป็นต้องรณรงค์กำจัดลูกน้ำทุกสัปดาห์ เพื่อตัดวงจรการเกิดยุงลายได้โดยตรง โดย ปีนี้ใช้หลักการ กลวิธี 5 ป.& 1 ข. ประกอบด้วย
ปิด คือ ปิดภาชนะ น้ำกินน้ำใช้ให้มิดชิดหลังการตักใช้น้ำทุกครั้งเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่
เปลี่ยน คือ เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำ ทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง
ปล่อย คือ ปล่อยปลาหางนกยูง กินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เช่น อ่างบัว,ถังซีเมนต์เก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีในบ้าน ในโรงเรียน
ปรับปรุง คือ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ให้ปลอดโปร่ง โล่ง สะอาด ลมพัดผ่านไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย
ปฏิบัติเป็นประจำ คือ ปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัย
และ 1 ข คือ ขัดไข่ยุงลาย เนื่องจากยุงลายจะไข่เหนือระดับน้ำ 1-2 เซนติเมตร เมื่อมีน้ำมาเติมจนท่วมหลังไข่ จะฟักตัวเป็นลูกน้ำ แต่หากไม่มีน้ำมาเติมจนท่วม ก็จะแห้งติดผนังภาชนะอย่างนั้น เมื่อมีน้ำมาท่วมเมื่อใด ไข่ก็พร้อมแตกตัวเป็นลูกน้ำภายใน 30 นาที ซึ่งยุงตัวเมีย 1 ตัว ไข่ครั้งละ 50-150 ฟอง 4 - 6 ครั้ง ในช่วงชีวิตประมาณ 60 วัน ของยุง ฉะนั้น ยุงตัวหนึ่งจะมีลูกได้ราว 500 ตัว จึงจำเป็นต้องมีการขัดไข่ยุงลายในภาชนะ โดยใช้ใยขัดล้าง หรือ แปรงชนิดนุ่มช่วยในการขัดล้าง และ ทิ้งน้ำที่ขัดล้างนั้นบนพื้นดิน เพื่อให้ไข่แห้งตายไม่ควรทิ้งลงท่อระบายน้ำ ซึ่งอาจจะเป็นแหล่งน้ำใสนิ่งทำให้ไข่บางส่วนรอดและเจริญเป็นลูกน้ำและยุงลายได้