กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--ส.อ.ท.
1. กลุ่มสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ขอแสดงเจตจำนงพร้อมที่จะดำเนินการเพื่อเข้าสู่กระบวนการปรองดอง ที่ประชุม กบ.และประธานภาค ทั้ง 5 ภาค เห็นชอบที่จะแสดงเจตจำนงอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน พร้อมที่จะดำเนินการที่จะเข้าสู่กระบวนการให้เกิดการปรองดอง ยุติปัญหาความขัดแย้งใน ส.อ.ท. เพื่อให้องค์กรเดินหน้าต่อไป โดยพร้อมที่จะเจรจาหาข้อยุติ โดยไม่สร้างเงื่อนไขที่จะเป็นอุปสรรคต่อการยุติปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งที่ผ่านมา ส.อ.ท. ได้รับความบอบช้ำ สูญเสียความเชื่อมั่น และภาพลักษณ์ที่ดีต่อสังคมมามากพอแล้ว โดยขอให้ฝ่ายคุณพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล เห็นแก่องค์กร ด้วยการไม่สร้างเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการยุติปัญหาความขัดแย้ง และเข้าสู่กระบวนการปรองดอง
2. ขอให้รัฐบาลช่วยดูแลและหามาตรการในการรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทไม่ให้ แข็งค่า โดยเฉพาะเกี่ยวกับมาตรการป้องกันเงินทุนไหลเข้า ซึ่งเข้ามาเก็งกำไรในระยะสั้น ทั้งนี้ เงินบาทที่แข็งค่าส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อผู้ประกอบการส่งออก ซึ่งใช้วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ในประเทศสูง (High Local Content) ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs และภาคเกษตรและเกษตรแปรรูปได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก
3. ความร่วมมือกับกระทรวงคมนาคม ในโครงการจัดทำข้อเสนอแนะของภาคเอกชนแนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ 5 ภาค เพื่อเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่ง ส.อ.ท.เห็นว่ามีประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลดต้นทุนโลจิสติกส์ ซึ่งจะเป็นการร่วมมือแบบบูรณาการ ร่วมกับหน่วยงานราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีทั้งรูปแบบการจัดสัมมนาทั้งใน กทม. และการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในพื้นที่ต่างจังหวัดทั้ง 5 ภาค โดยโครงการจะเริ่มในเดือนเมษายน และสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ยังอยู่ระหว่างการประสานกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
4. ผลสำรวจผลกระทบภาคอุตสาหกรรม 1 ไตรมาส หลังปรับค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ ทาง ส.อ.ท. ได้จัดทำแบบสำรวจจากผู้ประกอบการทั่วประเทศ ตั้งแต่ 3 เม.ย. — 11 เม.ย. 56 โดยเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมร้อยละ 85.54 และภาคบริการร้อยละ 13.46 โดยพบว่า ผู้ประกอบการร้อยละ 80 ประสบปัญหาขาดทุน ทั้งขาดทุนมากและปานกลาง มีเพียงผู้ประกอบร้อยละ 12 เท่านั้น ซึ่งแจ้งว่าไม่ได้รับผลกระทบจากสถานะด้านผลกำไรของธุรกิจ ในด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น มีผู้ประกอบการร้อยละ 54 มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ร้อยละ 24 มีต้นทุนเพิ่มขึ้นมากกว่า 5-10% และร้อยละ 18 มีต้นทุนสูงมากกว่า 3-5% ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม แจ้งว่าไม่สามารถปรับราคาได้ และมีผู้ที่สามารถปรับราคาได้เท่ากับต้นทุน เพียงร้อยละ 1.96
โดยสรุปแล้ว พบว่ามีเพียงผู้ประกอบการร้อยละ 6.25 - 6.67 เท่านั้น ที่ยังคงมีความเชื่อมั่นสูงในการประกอบธุรกิจในอนาคต ขณะที่ผู้ประกอบการที่แจ้งว่าอาจต้องเลิกกิจการมีถึงร้อยละ 10.45