สธ.ติวเข้มห้องปฏิบัติการตรวจบักเตรีไร้อากาศ

ข่าวทั่วไป Monday December 15, 1997 19:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--15 ธ.ค.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ SEAMIC/IMFJ (Southeast Asian Medical Information Center and International Medical Foundation of Japan) จัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "การตรวจวินิจฉัยบักเตรีไร้อากาศในห้องปฏิบัติการ (The National Group Training Course on Laboratory Diagnosis of Anaerobic bacterial Infection)" เพื่อพัฒนาบุคลากรของห้องปฏิบัติการชันสูตรสาธารณสุขของโรงพยาบาล ในระหว่างวันที่ 15-19 ธันวาคม 2540 ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี
นายคำรณณลำพูนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยหลังจากเป็นประธานเปิดการอบรมฯว่า บักเตรีไร้อากาศเป็นบักเตรีที่สามารถเจริญเติบโตได้ในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน และก่อให้เกิดโรคได้ในทุก ๆ ระบบของร่างกาย เช่น ในช่องปาก ระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหารระบบประสาทและผิวหนังความรุนแรงของโรคก่อให้เกิดการเสียชีวิตได้เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งยุโรปและอเมริกา สำหรับในประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลการชันสูตรหาเชื้อบักเตรีไร้อากาศที่เป็นสาเหตุแท้จริงของโรคต่าง ๆ ของผู้ป่วยในแต่ละภูมิภาค ปัจจุบันนี้มีเพียงหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมหาวิทยาบางแห่งเท่านั้นที่มีการตรวจชันสูตรหาเชื้อบักเตรีไร้อากาศนอกจากนี้ยังพบว่าบุคลากรที่รับผิดชอบดำเนินการตรวจวินิจฉัยเชื้อในห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลในประเทศไทยยังขาดความรู้ และประสบการณ์ด้านการตรวจชันสูตรเชอและโรคติดเชื้อบักเตรีไร้อากาศถึงร้อยละ70 อีกทั้งยังขาดอุปกรณ์และน้ำยาที่จำเป็นต้องใช้ในการเพาะเลี้ยงเชื้อบักเตรีไร้อากาศทำให้แพทย์ขาดข้อมูลประกอบการวินิจฉัยและรักษาโรคส่งผลให้การรักษายุ่งยากใช้เวลานานและสิ้นเปลืองยาที่ใช้รักษายิ่งขึ้นและยังส่งผลให้เชื้อมีการดื้อยามากขึ้น เพราะได้มีการศึกษาแล้วพบว่าเชื้อบักเตรีไร้อากาศที่แยกพบได้บ่อยในผู้ป่วย(Bacteroides)มีการดื้อยากลุ่มเพนนิซิลินสูงถึง ร้อยละ 75
ฉะนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยการสนับสนุนด้านงบประมาณจาก SEAMIC/IMFJ ประเทศญี่ปุ่น จึงได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การตรวจวินิจฉัยบักเตรีไร้อากาศในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์การแพทย์ ของโรงพยาบาลทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคได้เพิ่มพูนความรู้ เสริมทักษะเกี่ยวกับการตรวจวินิจฉัยบักเตรีไร้อากาศในห้องปฏิบัติการ และหาแนวทางประสานความร่วมมือในการดำเนินการศึกษาโรคติดเชื้อในร่างกาย ที่เกิดจากเชื้อบักเตรีไร้อากาศในประเทศไทยเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยต่อไป สำหรับผู้ที่เข้ารับการอบรมในครั้งนี้ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์การแพทย์ของโรงพยาบาล ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 21 คน การอบรมในครั้งนี้มีทั้งการบรรยาย ปฏิบัติการ และการอภิปราย โดยมีวิทยากรจากประเทศญี่ปุ่น คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อสอบถามได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทร. 5910203-14 ต่อ 9017, 9081 โทรสาร. 5911707 มือถือ 01-9047221--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ