กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--สป.
คณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดประชุมสัมมนาเรื่อง “ข้อเสนอเชิงนโยบายการใช้สมุนไพรในระบบสาธารณสุขของไทย” เกี่ยวกับการใช้สมุนไพรในระบบสาธารณสุขของไทย เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค นักวิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชน และสื่อมวลชน ในการแก้ไขปัญหาการใช้สมุนไพรในระบบสาธารณสุขของไทย และเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาเป็นส่วนประกอบในการจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเสนอสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 สำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
โดยมี นพ.สมชัย นิจพานิช อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวเปิดการสัมมนา โดยกล่าวว่า นโยบายของภาครัฐเป็นส่วนสำคัญในการแพทย์แผนไทยตั้งแต่ในด้านของแหล่งปลูก การผลิต และการแปรรูปของพืชสมุนไพร ซึ่งสภาที่ปรึกษาฯเป็นทางเดินของพวกเรา ที่จะผลักดัน ข้อเสนอให้มีประสิทธิผล
ทั้งนี้ ในการสัมมนา มีการอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอเชิงนโยบายการใช้สมุนไพรในระบบสาธารณสุขของไทยที่หลากหลายดังนี้
นพ.เปรม ชินวันทนานนท์ ประธานฝ่ายพัฒนาภูมิปัญญาไทย มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวถึงแนวทาง หัวข้อการพัฒนาสมุนไพร 5 หัวข้อ คือ
1.องค์ประสานหรือองค์กรเจ้าภาพ คือ ต้องมีเจ้าหน้าที่ประกอบการตัวแทนผู้ผลิต จำหน่ายผลิตภัณฑ์โดยมีรูปแบบที่คณะกรรมการระดับชาติหรือสภา มีกฎหมายรองรับ มีสำนักงาน มีฐานะทางสังคม โดยที่องค์กรจะมีบทบาทหน้าที่ในการกลั่นกรองงบประมาณพัฒนานโยบาย กำหนดทิศทางการวิจัยและพัฒนา ติดตามการแก้ไขอุปสรรคในด้านต่างๆ ที่เป็นปัญหา พร้อมทั้งมีบทบาทในการประสานงานกับภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง
2.พัฒนาระบบ supply โดยสร้าง cluster ระหว่างองค์กรทางวิชาการและผู้ประกอบการ คือ ใช้สถาบันการศึกษาเข้าดูแลผู้ประกอบการเป็นกลุ่ม ในระดับต่างๆ สนับสนุนการสร้างความรู้เพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งด้านนวัตกรรม การตลาด การพัฒนาคน การผลิต และการใช้ระบบสนับสนุนงบประมาณ ความก้าวหน้าทางวิชาการหรือระบบการแข่งขันไปกระตุ้นการดำเนินงาน
3. พัฒนาการตลาด คือ การส่งเสริมการใช้สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน การใช้ยาสมุนไพรในโรงพยาบาลของรัฐ สร้างค่านิยมการใช้สมุนไพรผ่าน mass media มีการส่งเสริมการทำตลาดและส่งเสริมการส่งออก เน้นเครื่องสำอางผสมสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในตลาดโลด ส่วนยาจากสมุนไพรเน้นตลาดเอเชีย
4.พัฒนาระบบข้อมูลพัฒนากฎหมาย คือ มีระบบข้อมูลที่ดีครอบคลุมความรู้เกี่ยวกับตัวสมุนไพรที่มีศักยภาพ การเพาะปลูกการเก็บเกี่ยว กฎระเบียบ มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงอยู่บนพื้นฐานของความรู้ทันเทคโนโลยีใหม่ ใช้งานวิจัยและปัญญา อีกทั้งคุ้มครองพิทักษ์ผลประโยชน์ของคนไทยในเวทีโลก โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
5.พัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง คือ ศูนย์ดูแลความงาม ยาแผนโบราณ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง โดยมีหน่วยงานที่รองรับและสนับสนุน.
นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การนำสมุนไพรมาส่งเสริมและพัฒนา ทำไมถึงไม่ประสบผลสำเร็จ? เนื่องจากขาดกลไกกำหนดนโยบายและวางแผน ทั้งในภาพรวมของระบบ ขาดการพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนากำลังคนแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน และแพทย์ทางเลือก ทั้งในด้านแผนการผลิต หลักสูตร วิธีการจัดการเรียนการสอน มาตรฐาน-คุณภาพครูอาจารย์ การประกันคุณภาพการศึกษา กลไกการประสานงานระหว่างหน่วยผู้ผลิต ผู้ใช้ ตัวแทนผู้บริโภค และหน่วยนโยบาย ขาดนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างการผลิตและการใช้กำลังคนให้มีความสอดคล้องและมีประสิทธิภาพ ทำให้ขาดความชัดเจนของการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ พัฒนาองค์ความรู้วิชาแพทย์พื้นบ้าน แพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือกที่ชัดเจนทำให้ระบบการผลิตและพัฒนากำลังคนขาดทิศทางที่ชัดเจน
ทั้งนี้ ข้อเสนอที่จะนำไปสู่การสร้างและจัดการความรู้เพื่อพัฒนากำลังคนแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน และแพทย์ทางเลือก มีดังนี้1. เป้าหมายสำคัญของ การพัฒนาการแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน และแพทย์ทางเลือก คือ การพลิกฟื้นนำเอาภูมิปัญญา องค์ความรู้ ให้กลับมามีบทบาทในการบริบาล ดูแล รักษา พัฒนาสุขภาพพลานามัย โดยจำเป็นต้องมีการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบสุขภาพของ 2. ข้อเสนอเชิงนโยบายในการสร้างและจัดการความรู้ เพื่อการพัฒนากำลังคนแพทย์แผนไทย 3.ปรับปรุงและยกระดับการทำงานของกรมพัฒนาแพทย์แผนไทยฯ ให้เป็นหน่วยสร้างและจัดการความรู้ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาแพทย์แผนไทยฯ ระดับชาติ และ 4.กำหนดให้มีโครงสร้าง กรอบอัตรากำลังสำหรับบุคลากรแพทย์แผนไทยฯ ของภาครัฐ ที่ชัดเจน เป็นรูปธรรมการแพทย์แผนไทยมีประวัติเคียงคู่กับคนไทยมายาวนาน การนำสมุนไพรมาส่งเสริมและพัฒนา
ภญ.ยุพิน ลาวัณย์ประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความปลอดภัยและประสิทธิผลผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า สำนักคณะกรรมการอาหารและยา มุ่งเน้นคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลัก สร้างเสริมเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง และคุ้มครองปลอดภัยผู้บริโภค มาตรฐานในการจดทะเบียนยาจึงมีความสำคัญ สมุนไพรแพทย์แผนไทยจึงต้องมีมาตรฐานในการผลิตที่มีความเข้มแข็ง สร้างความเข้าใจ ซึ่งในการขึ้นทะเบียนยาแพทย์แผนโบราณ ต้องมีข้อมูลในการสนับสนุนที่แน่ชัด มีสูตรต้นตำรับของสมุนไพรอ้างอิง และแสดงข้อมูลสูตรตำรับควบคุมมาตรฐานนั้น ซึ่งการใช้สมุนไพรอย่างยั่งยืน ต้องมีความปลอดภัย มาตรฐานการผลิต เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ตั้งอยู่ในฐานความปลอดภัยของผู้บริโภค
ด้านนพ. ประพจน์ เภตรากาศ ประธานกรรมการมูลนิธิชีววิถี กล่าวถึง การพัฒนาระบบยาสมุนไพร และผลิตภัณฑ์สมุนไพร ระบบยาของประเทศมีความมั่นคงบนฐานของระบบยาจากสมุนไพร โดยต้องมีรายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพและมาตรฐาน โดยมีมาตรการในการส่งเสริม คือ 1.ด้านการพึ่งตนเองสมุนไพรของชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีศักยภาพในการใช้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพ ทั้งด้านการเป็นอาหารพื้นบ้านและยาสมุนไพร 2. ส่งเสริมความเข้มแข็งของระบบยาจากสมุนไพรในระบบสาธารณสุขของประเทศ ตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกยา การผลิตและจัดหายา การกระจายยา และการใช้ยาที่เหมาะสม 3.การพัฒนาศักยภาพ มาตรฐานอุตสาหกรรมยาไทย เพื่อให้การผลิตยาไทยของภาคอุตสาหกรรมได้มาตรฐานตามข้อกำหนด Asian Harmonization เพื่อให้สามารถแข่งขันกับอุตสาหกรรมยาสมุนไพรของกลุ่มประเทศอาเซียนได้ และ 4.การส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพรที่เป็นที่นิยม หรือทดแทนการนำเข้า หรือสามารถส่งออกไปต่างประเทศ อันเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและประเทศ
ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการสัมมนา คณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ จะได้รวบรวมความคิดเห็นที่ได้ไปวิเคราะห์ สังเคราะห์ ในการจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะ ต่อการพัฒนาการใช้สมุนไพรในระบบสาธารณสุขต่อไป