กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--เพนเน็ตเทรท
บางกอกแดนซ์ จัดการแข่งขันครั้งใหญ่ในรอบปี“Bangkok Dance Talent ครั้งที่ 2”ขานรับการพัฒนาการศึกษา ก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านวิชาชีพศิลปะการเต้นในกลุ่ม AEC
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับ สถาบันบางกอกแดนซ์ และโรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ จัดแข่งขันศิลปะการเต้น Bangkok Dance Talent ครั้งที่ 2 เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้แสดงความสามารถ และพัฒนาศักยภาพทางด้านการเต้น อีกทั้งยังเป็นเวทีที่จะเฟ้นหาเยาวชนมากความสามารถเข้าร่วมแข่งขันศิลปะการเต้นในระดับนานาชาติต่อไป ทั้งนี้ ตลอด 20 ปี ในการเป็นสถาบันชั้นนำด้านการสอนศิลปะการเต้นของสถาบันบางกอกแดนซ์ ตระหนักถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้รักศิลปะการเต้นทุกคน และมุ่งมั่นพัฒนาศิลปะการเต้นของไทยจนได้มาตรฐานสากลในปัจจุบัน ตลอดจนมุ่งสู่การเป็นผู้นำทางด้านวิชาชีพศิลปะการเต้นในกลุ่ม AEC
น.ส.วัลลภา ปัจฉิมสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบางกอกแดนซ์ เปิดเผยว่า “การจัดการแข่งขันบางกอกแดนซ์ ทาเลนท์ ครั้งที่ 2 นี้ เป็นการแข่งขันที่มีหลักเกณฑ์การตัดสินตามหลักมาตรฐานสากล ซึ่งสถาบันฯ มีความตั้งใจและมุ่งมั่นจัดขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนผู้มีใจรักศิลปะการเต้น มีโอกาสได้นำความรู้จากห้องเรียนมาแสดงความสามารถบนเวทีการแข่งขัน ท่ามกลางผู้ชมจำนวนมาก ทั้งนี้เยาวชนทุกคนจะได้รับประสบการณ์ทุกๆ ด้านจากการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาศักยภาพของตัวเอง กล้าแสดงออกจากการแสดงบนเวที ซึ่งการแข่งขันนี้จะเป็นก้าวแรกของเยาวชนอีกหลายคนที่จะนำไปสู่การแข่งขันระดับชาติและนานาชาติต่อไป
“ทั้งนี้ สถาบันบางกอกแดนซ์ ได้นำเยาวชนไทยไปแสดงและแข่งขันในต่างประเทศมาตลอดระยะเวลา 20 ปี ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และได้รับรางวัลมากมายจากการแข่งขันมาโดยตลอด ซึ่งในการแข่งขัน Bangkok Dance Talent ครั้งที่ 2 นี้ จะทำให้เยาวชนไทยหลายคนได้แสดงทักษะความสามารถของตนเอง และจะพัฒนาศักยภาพทางด้านการเต้นมากขึ้น อีกทั้งยังเสริมสร้างลักษณะนิสัยที่ดีของความมีน้ำใจนักกีฬา “รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย” และยังได้ร่วมประสบการณ์ในการคัดเลือกเป็นตัวแทนการแข่งขันระดับนานาชาติเพื่อสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยด้านการเป็นผู้นำศิลปะการเต้นในภาคพื้นอาเซียน”
“จากผลงานของบางกอกแดนซ์ทั้งด้านการผลิตบุคลากรให้กับวงการบันเทิงของไทย เช่น ศิลปินนักร้องที่มีชื่อเสียงระดับแนวหน้า นักประดิษฐ์ท่าเต้น (Choreographer) นักเต้นระดับอาชีพ ครูผู้สอนและรางวัลจากการแข่งขันระดับนานาชาติที่ได้รับ เป็นบทพิสูจน์ว่า ความสามารถของเยาวชนไทยในศิลปะการเต้นมีความโดดเด่นไม่แพ้ประเทศใดในกลุ่มอาเซียน ซึ่งสถาบันบางกอกแดนซ์ยังคงมุ่งมั่นต่อไปในการเป็นผู้นำด้านศิลปะการเต้นในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาวงการศิลปะการเต้นของไทยไปอีกขึ้นหนึ่ง”
ด้าน ดร.สุวัตร สิทธิหล่อ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า “กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้สนับสนุนเยาวชนไทยผู้มีความสามารถ และเปี่ยมไปด้วยศักยภาพ เพื่อเข้าร่วมในการแข่งขัน Bangkok Dance Talent ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์และยกระดับความสามารถของเยาวชนไทยทางด้านการเต้นสู่เวทีการแข่งขันมาตรฐานสากล อีกทั้งผู้ที่ได้รางวัลจะได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันต่อในระดับนานาชาติ จึงนับเป็นโอกาสพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นก้าวสำคัญ ที่จะนำประเทศไทยไปสู่ความเป็นประเทศผู้นำทางศิลปะการเต้นของประเทศกลุ่ม AEC ในอนาคตอันใกล้นี้ ทั้งนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ขอเป็นกำลังใจให้เยาวชนทุกคนที่มีความรักในศิลปะการเต้น ผู้ปกครองที่เอาใจใส่ และสถาบันบางกอกแดนซ์ที่ช่วยสานต่อความฝันของเยาวชนไทยให้เป็นจริงและเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ขอให้ทุกท่านได้ประสบความสำเร็จดังที่คาดหวังไว้ และร่วมกันเป็นพลังสำคัญอันจะช่วยพัฒนาประเทศไทยของเราให้เจริญก้าวหน้าต่อไป”
สำหรับการแข่งขัน Bangkok Dance Talent ครั้งที่ 2 นี้ ผู้เข้าแข่งขันมีตั้งแต่ รุ่นอายุต่ำกว่า 8 ปี จนถึงระดับอาชีพ โดยเลือกแสดงแบบเดี่ยว (Solo) คู่ (Duo) ประเภท 3 คน (Trio) กลุ่มขนาดเล็ก 4-6 คน (Ensemble) และกลุ่มขนาดใหญ่ 7-30 คน (Group) มีผู้เข้าร่วมแข่งขันกว่า 600 คน และการแสดงกว่า 200 ชุด ซึ่งแต่ละคนเข้าแข่งขันได้ทุกรูปแบบ ส่วนประเภทการแข่งขัน แบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ
Classical Ballet เป็นการเต้นบัลเล่ต์แบบดั้งเดิม ที่มีลักษณะการเต้นที่เรียกว่า “ระบำปลายเท้า” ซึ่งผู้แสดงต้องพ้อยท์เท้าเพื่อยกตัวขึ้นและเต้นบนปลายเท้า มีรูปแบบการแต่งกายที่เฉพาะเจาะจง คือ กระโปรงบานและสั้น หรือยาวแบบปิดหัวเข่า อีกทั้งจำเป็นต้องใช้เพลงประกอบการเต้นที่เป็นเพลงคลาสสิคเท่านั้น
Lyrical เป็นการเต้นสมัยใหม่ ซึ่งผสมผสานกับการเต้นแบบคลาสสิค จะมีรูปแบบการเต้นแบบฟรีสไตล์ ซึ่งจะใช้เพลงประกอบในการเต้นที่ช้า ให้ความรู้สึกโรแมนติกหรือเศร้า ซึ่งลักษณะการเต้นแบบ Lyrical นี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้กับคนที่ไม่สามารถเต้นแบบขึ้นปลายเท้ายกสูงได้ ซึ่งจะทำให้คนทั่วไปมีได้เต้นมากขึ้น
Demi-Character เป็นรูปแบบการเต้นที่ทันสมัยเช่นกัน แต่จำเป็นที่จะต้องมีการเล่าเรื่องราว ซึ่งผู้เต้นจะหยิบยกเรื่องราวในบางตอนขึ้นมาถ่ายทอด ตามความรู้สึกของตัวละครนั้น ทำให้ลักษณะการแต่งกายจะเปลี่ยนไปตามรูปแบบการเต้นที่ผู้เต้นได้เลือกถ่ายทอด
Modern เป็นลักษณะการเต้นที่ทันสมัย และจะใช้เพลงจังหวะเร็วในการประกอบการเต้น
National จะเป็นรูปแบบการเต้นประจำชาติ ซึ่งผู้ประดิษฐ์ท่าเต้นประยุกต์ท่าเต้นให้สอดคล้องกับรูปแบบ และภาพลักษณ์ของชาตินั้นๆ รวมถึงการออกแบบเครื่องแต่งกายก็เช่นเดียวกัน
นางสาวพริมา ทระเทพ หรือน้องสะระแอ อายุ 16 ปี นักเรียนบางกอกแดนซ์ โครงการ Soloist เรียนจบวิชาบัลเล่ต์ ขั้น Advance 2 ระดับเกียรตินิยม (หลักสูตรบัลเล่ต์ของ R.A.D. ประเทศอังกฤษ) และนอกจากนี้ยังเรียน Jazz Dance และ Contemporary Dance ที่สถาบันบางกอกแดนซ์ อีกด้วย ได้รับรางวัลคะแนนรวมบุคคลสูงสุดของการแข่งขัน Bangkok Dance Talent ครั้งที่ 2 เปิดเผยว่า ตนเริ่มเรียนบัลเล่ต์มาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ และรู้สึกรักในการเต้นมากขึ้นเรื่อยๆ “ยิ่งเรียน ก็ยิ่งรัก” ซึ่งการเต้นทำให้ตนมีบุคลิกภาพที่ดีขึ้น และเสริมสร้างทักษะทางด้านสมาธิ รวมถึงความจำอีกด้วย สำหรับการแข่งขันครั้งนี้ตนได้มีการฝึกซ้อมตลอดระยะเวลา 3 เดือน และรู้สึกดีใจที่ได้รับรางวัลต่างๆ รวมถึงได้รับคะแนนรวมบุคคลสูงสุดจากการแข่งขันครั้งนี้ เมื่อถามถึงการวางแผนเกี่ยวกับศิลปะการเต้นในอนาคต น้องสระแอ ได้เปิดเผยต่ออีกว่า ตนเพิ่งได้รับการคัดเลือกจาก Central School Of Ballet ที่ประเทศอังกฤษ (โรงเรียนที่สอนศิลปะการเต้นที่มีชื่อเสียงระดับโลก) ซึ่งตนจะพยายามเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการเรียนในครั้งนี้ให้มากที่สุด เพื่อที่จะได้ทำความฝันในการเข้าคณะเต้นแนวหน้าของโลกให้เป็นจริง
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การตัดสินกรรมการให้คะแนนตามหลักสากล โดยมี น.ส.วัลลภา ปัจฉิมสวัสดิ์ ตัวแทนจากสถาบัน Commonwealth Society of Teachers of Dancing (C.S.T.D.) ประจำประเทศไทย เป็นกรรมการตัดสิน ซึ่งผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในการแข่งขันแต่ละประเภทจะได้รับรางวัลที่ 1 คะแนนรองลงมาจะได้รับรางวัลที่ 2-3 และรางวัลชมเชยตามลำดับ กรรมการผู้ตัดสินยังทิ้งท้ายว่า “การตัดสินในปีนี้ให้คะแนนค่อนข้างลำบาก อันเนื่องจากเยาวชนผู้เข้าแข่งขันทุกรุ่นมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก รวมถึงมีความสามารถทัดเทียมกันมากด้วยเช่นกัน ทำให้เห็นว่า เยาวชนไทยให้ความสำคัญกับการแข่งขันครั้งนี้มาก ซึ่งตนรู้สึกยินดีและภูมิใจอย่างยิ่งที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเยาวชนไทยด้านการเต้นให้มีโอกาสไปสู่เวทีระดับนานาชาติ”
สอบถามข้อมูลประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม : บริษัท เพนเน็ตเทรท จำกัด
ทอฝัน เพ็ชรดี (ทราย) / โทร + 66 2 681 5305-7 / Torfun@penettrate.com