กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรฯ จัดนิทรรศการ “ประมงไทยรับรู้ สู้ภัยพิบัติ ยืนหยัดสู่อาเซียน” ใน 4 ภาค อย่างยิ่งใหญ่ หวังให้เกษตรกรมีความรู้รับมือผลกระทบสภาวะโลกร้อน สู้วิกฤตน้ำท่วม ฝนแล้ง โรคระบาดสัตว์น้ำ พร้อมก้าวทันเออีซี
นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในการเป็นประธานแถลงข่าวการจัดงาน “ประมงไทยสู้ภัยพิบัติ พร้อมยืนหยัด สู่สังคมอาเซียน” และไฮไลท์การจัดงานทั้ง 4 ภูมิภาค ณ ห้องประชุมพะยูน กรมประมง บางเขน ว่า ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศของโลก ตลอดจนการก้าวเข้าสู่ประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ภายในปี 2558 ย่อมส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเพาะสัตว์น้ำถึง 592,000 ราย โดยตรง ที่จะต้องปรับตัวให้สามารถอยู่ได้และไม่เสียเปรียบ ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง จึงได้จัดงานให้ความรู้แก่เกษตรกร ในหัวข้อ “ประมงไทยรับรู้ สู้ภัยพิบัติ ยืนหยัดสู่อาเซียน” โดยเป็นการจัดนิทรรศการทั่วประเทศ 4 ภาค ดังนี้ ภาคกลาง วันที่ 9-10 พฤษภาคม 2556 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา ภาคใต้ วันที่ 14-15 พฤษภาคม 2556 ณ โรมแรมวังใต้ จ.สุราษฎร์ธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 21-22 พฤษภาคม 2556 ณ โรมแรมพูลแมน ราชา ออร์คิด จ.ขอนแก่น และภาคเหนือ วันที่ 29-30 พฤษภาคม 2556 ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จ.เชียงใหม่
นายศิริวัฒน์กล่าวต่อไปว่า สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ เพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น ทั้งน้ำท่วม ฝนแล้ง โรคระบาดสัตว์น้ำ ฯลฯ รวมถึงเตรียมความพร้อมสำหรับเกษตรกรและประมงอาสา ให้มีความรู้การเข้าสู่ AEC พร้อมทั้งเสริมสร้างทักษะและศักยภาพของเกษตรกรและประมงอาสาที่สามารถเป็น smart famer ซึ่งวัตถุประสงค์ดังกล่าวสอดคล้องกับสภาพการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติทุกพื้นที่ทั่วโลก ในประเทศไทยก็ได้เกิดภัยทางธรรมชาติ เช่น ในปี 2554 ได้เกิดมหาอุทกภัยทั่วประเทศ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เกษตรกรด้านการประมงถึง 132,000 ราย กรมประมงได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเป็นเงินกว่า 6,000 ล้านบาท ทั้งนี้ กรมประมง มีประมงอาสาที่เป็นเครือข่ายอยู่จำนวน 14,000 ราย ทำหน้าที่ใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่กรมประมงเป็นอย่างมาก เป็นจิตอาสาที่ปฏิบัติงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ดังนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับลูกค้าของกรมประมงทั้งเกษตรกรและประมงอาสากว่า 600,000 ราย ให้รับรู้ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น และรับรู้ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเพื่อจะได้ตั้งรับกับปัญหาที่จะตามมา ประกอบกับนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ที่ต้องการให้เกษตรกรไทยเป็น smart farmer จึงต้องมีการปรับตัวรับรู้สิ่งใหม่ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงรอบด้านของโลก
สำหรับไฮไลท์ภายในงาน ได้จัดให้มีนิทรรศการแสดงพันธุ์ปลาท้องถิ่นหายาก หรือสัตว์น้ำเศรษฐกิจประจำถิ่น อาทิ จ.ขอนแก่น มีการจัดแสดงปลาสวายและปลาพรมหัวเหม็น จ.เชียงใหม่ จัดแสดงปลาเทร้า และปลาสเตอร์เจี้ยน จ.ฉะเชิงเทรา และสุราษฎร์ธานี มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการแสดงพันธุ์สัตว์น้ำมีชีวิต (touch pool) และการจัดแสดงสัตว์น้ำชายฝั่งสวยงามมีชีวิต อาทิ ปลิงทะเล ปลาการ์ตูน และหอยมือเสือ พร้อมเสริมสร้างความรู้ให้เกษตรกรในด้านการป้องกัน และรักษาโรคสัตว์น้ำชายฝั่ง เช่น โรคตายด่วน (EMS) ในกุ้งทะเลเพื่อให้เกษตรกรได้เตรียมความพร้อมในการป้องกันให้เลี้ยงกุ้งทะเลปลอดจากโรคระบาดหรือเกิดความเสียหายจากโรคระบาดได้ โดยภายในงานจะมีการรับสมัครประมงอาสา ที่มีความรู้ด้านการประมง เพื่อสร้างแกนนำและผู้ประสานงานในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและข่าวสารด้านการประมงให้กับเกษตรกรในชุมชน และระหว่างเกษตรกรกับเจ้าหน้าที่ประมง นอกจากนี้ ยังได้จัดให้มีการประชุมสัมมนาและการบรรยายให้ความรู้ในประเด็นสำคัญต่างๆ เช่น ระเบียบการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย บทบาทของประมงอาสา การเตรียมตัวสู่การเป็น smart farmer ของเกษตรกรประมง การเสวนา พัฒนาเกษตรกรประมงไทยสู้ภัยพิบัติในอนาคต เกษตรกรไทยได้อะไรจากการเข้าสู่ AEC พร้อมการจัดการแสดงมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดัง การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน กิจกรรมเล่นเกมชิงของรางวัล และการจำหน่ายสินค้า OTOP ของดีของเด่นจากผลิตภัณฑ์ด้านการประมง 4 ภูมิภาคอีกด้วย