กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--ไอแอมพีอาร์
เรือเป็นพาหนะสำคัญของผู้ที่ใช้ชีวิตผูกพันอยู่กับสายน้ำ การใช้งานเรือในปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้เพื่อการเดินทาง การประมง และการท่องเที่ยว แต่หากย้อนไปในอดีต ณ บริเวณน่านน้ำทะเลปักษ์ใต้ อันเป็นถิ่นกำเนิดของ “เรือกอและ” กลับพบว่าเรือชื่อแปลกลำนี้สามารถเป็นทั้งพาหนะท้องถิ่น เรือประมงและเรือรบได้ในคราวเดียวกัน อีกทั้งยังมีความพิสดารว่าเรืออื่นๆ เพราะแม้จะต้องถูกคลื่นลมแรงถาโถม แต่เรือกอและก็ไม่มีทางอับปางลงได้!?!
ความมหัศจรรย์ที่ลอยลำอยู่ในทะเลชายแดนใต้ เกิดจากความปราดเปรื่องของช่างประดิษฐ์เรือ โดยมีประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาที่น่าสนใจซุกซ่อนอยู่ใต้ภาพความสวยงามของเรือสีสันฉูดฉาดสดใส ซึ่งยังสามารถปรับใช้ได้ตลอดทุกยุคสมัย สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) จึงได้ร่วมกับ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดนิทรรศการ “กอและ แกะรอย” ขึ้นภายใต้โครงการ Museum Family เพื่อให้คนยุคใหม่ได้ร่วมย้อนรอยเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเรือกอและที่มีมานับตั้งแต่สมัยสุโขทัย และกระบวนการถ่ายทอดแนวคิดการประดิษฐ์เรือที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ที่ทำให้เรือกอและยังคงอยู่คู่น่านน้ำทะเลใต้จนถึงปัจจุบัน
นางสาวนราวดี โลหะจินดา นักวิชาการอุดมศึกษา หัวหน้าฝ่ายวิจัยพัฒนาและส่งเสริมวัฒนธรรม สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อธิบายว่า นิทรรศการกอและแกะรอย นำเสนอประวัติศาสตร์ของเรือกอและตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน โดยแบ่งเรื่องราวออกเป็น 4 ส่วน เริ่มตั้งแต่ ย้อนรอย ถึงเรื่องราวความเป็นมา, ก่อร่าง เล่าถึงการสร้างเรือ, สร้างลาย อธิบายถึงแนวคิดของสีสันและลวดลายบนเรือ และสุดท้ายคือ ลอยลำ โดยบอกเล่าถึงประเพณีบวงสรวงที่จะต้องทำทุกครั้งก่อนนำไปใช้งานเพื่อแสดงถึงความเคารพที่มีต่อเรือ
“เรือกอและเป็นที่รู้จักดีในแถบภาคใต้ตอนล่าง แม้จะเป็นเรือโบราณที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่รู้จักเรือกอและอย่างแท้จริง ส่วนใหญ่มักจะคุ้นตากับเรือประมงที่มีสีสันลวดลายฉูดฉาดสดใสมากกว่า การจัดนิทรรศการครั้งนี้จึงเป็นการนำองค์ความรู้และประวัติศาสตร์มาเผยแพร่สู่สาธารณชน โดยมีมิวเซียมสยามเป็นพื้นที่ในการเผยแพร่องค์ความรู้และทำกิจกรรมที่สนุกสนาน ทั้งการฝึกทำเรือกอและจิ๋ว การวาดลวดลายเรือกอและบนสิ่งของเครื่องใช้ เช่น เสื้อ ร่วม และพวงกุญแจ เพื่อให้เยาวชนรุ่นใหม่และผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม ได้เพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยอีกหน้าหนึ่ง โดยไม่ต้องเดินทางไปไกลถึงภาคใต้” นางสาวนราวดีอธิบาย
สำหรับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเรือกอและ ได้ปรากฏเรื่องราวตามบันทึกของพระยาอนุมานราชธน สันนิษฐานว่าเรือกอและมีใช้อย่างแพร่หลายตั้งแต่สมัยสุโขทัย พร้อมๆ กับการเผยแพร่ศาสนาอิสลาม และการเข้ามาตั้งรกรากของชาวมุสลิมบริเวณเลียบชายฝั่งทะเลอ่าวไทยของภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ไปจนถึงแหลมมลายู จากวิถีชีวิตที่ต้องอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อม ชาวชุมชนจึงมีความชำนาญในการประดิษฐ์เรือที่เหมาะสมกับการใช้งานในพื้นที่ที่มีลักษณะลมแรงและคลื่นสูง เรือกอและจึงเป็นทั้งพาหนะในการเดินทางและเรือประมงที่สามารถใช้ได้ทั้งในแม่น้ำลำคลองและในทะเลที่มีสภาพอากาศเลวร้าย
นายยูโซะ เจะโซ ศิลปินพื้นบ้านจากบ้านตะโละกะโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เชี่ยวชาญด้านการประดิษฐ์เรือกอและ เล่าให้ฟังถึงประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาว่า ในยุคสมัยนั้น หัวเมืองต่างๆ ในคาบสมุทรมลายูมีภารกิจร่วมกันป้องกันภัยจากข้าศึกษาสงครามในยามที่อาณาจักรอยุธยาถูกรุกราน ซึ่งเรือกอและหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เรือหย่าหยับ ของชนพื้นเมืองปัตตานีมีศักยภาพสูงในการปฏิบัติการทางทะเล โดยทำหน้าที่หลักเป็นเรือลาดตระเวน เพราะลักษณะเรือที่มีความคล่องตัวและรวดเร็ว สามารถต่อสู้กับแรงลมและกระแสคลื่นกลางทะเลได้ดี และยังเข็นขึ้นเก็บบนชายหาดได้สะดวก
“กอและมีความหมายว่า อาการโคลงเคลง เมื่อเรือลอยลำอยู่ในน้ำจะโยกคลอนไปมา เนื่องจากท้องเรือมีลักษณะกลมแบนคล้ายก้นกระทะ ช่วยให้ต่อสู้กับคลื่นลมแรงในทะเลได้ ลำเรือทำจากไม้เนื้อแข็งที่มียางในเนื้อไม้ อย่างไม้ตะเคียน ไม้พะยอม และไม้หลุมพอ เพราะเนื้อไม้ยืดหยุ่นดีทั้งตอนแห้งและตอนแช่น้ำ เรือกอและจึงมีบทบาทในฐานะเรือประมงในยามบ้านเมืองสงบ และเป็นเรือลาดตระเวนศัตรูต้องเกรงกลัวในยามศึกสงคราม แต่ทุกวันนี้บ้านเมืองสงบสุขชาวบ้านจึงใช้เรือเป็นพาหนะสัญจรและใช้ทำประมงชายฝั่งเท่านั้น” นายยูโซะกล่าว
ทางด้าน นายการิง สะอะ ศิลปินผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนลายเรือกอและ จากอำเภอเดียวกัน เล่าถึงความเป็นมาของลวดลายบนลำเรือว่า แต่เดิมเรือกอและมีเพียงการทาสีเป็นแถบตามความยาวของลำเรือ ในยุคหนึ่งที่ปัตตานีเป็นเมืองท่า มีเรือสินค้าจากประเทศต่างๆ มาจอด ชาวมุสลิมซึ่งมีวิถีชีวิตเรียบง่ายพอเพียง จึงมีเวลาจินตนาการและสร้างสรรค์งานศิลปะ ด้วยการวาดลวดลายต่างๆ ที่ชื่นชอบไว้บนลำเรือของตนเอง
“ชาวมุสลิมที่นี่นอกจากเป็นนักประดิษฐ์ ยังเป็นศิลปินนักเขียนลาย ด้วยการนำลายที่พบเห็นบนสิ่งของเครื่องใช้และสื่อโฆษณาในยุคสมัยนั้น มาวาดไว้บนลำเรืออย่างสวยงาม เช่น ลายไทย ลายประแจจีน ลายอาหรับที่คล้ายรูปเรขาคณิต บ้างก็วาดเป็นลวดลายภาพสัตว์ในจินตนาการ ลวดลายจิตรกรรมที่ตกแต่งบนเรือกอและจึงเป็นวัฒนธรรมสัมพันธ์ระหว่างศิลปะไทย จีน อาหรับ และชวา แสดงให้เห็นว่าบรรพบุรุษของไทยในยุคสมัยนั้นนิยมชมชอบอะไร และมีประเทศใดเข้ามาติดต่อทำการค้ากับไทยบ้าง ส่วนลายที่นิยมใช้ตอนนี้เป็นลายพันธุ์ไม้แบบเถาเลื้อยและลายหน้ากระดานเป็นหลัก” นายการิงเล่า
ด้าน นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) เปิดเผยว่า นิทรรศการกอและแกะรอย เป็นปฏิบัติการยกเรือขึ้นบกที่มุ่งใช้ลวดลายเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้เกิดการสืบค้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ในขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่ๆ ระหว่างผู้ชมนิทรรศการ คณะศิลปินพื้นบ้าน และเยาวชนที่มาร่วมจัดนิทรรศการ โดยมีมิวเซียมสยามเป็นสถานที่สร้างการเรียนรู้ร่วมกัน
“เรือกอและเป็นมรดกทรงคุณค่าของทะเลชายแดนใต้ เมื่อได้นำมาจัดแสดงให้คนภูมิภาคอื่นได้ชื่นชม ยิ่งสร้างความภาคภูมิใจให้แก่คนท้องถิ่นที่พยายามทำนุบำรุงรักษามาตลอด สำหรับผู้ที่ไม่เคยรู้จักเรือกอและมาก่อน เมื่อได้เห็นรูปทรงแปลกตาและลวดลายสีสวยสดใส ก็เกิดการแลกเปลี่ยนคำถามคำตอบ ช่วยสร้างการเรียนรู้ใหม่ๆ ร่วมกันอย่างสนุกสนาน เกิดเป็นมิตรภาพและความเข้าใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น” ผอ.สพร.กล่าวสรุป
นิทรรศการกอและแกะรอย จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ — วันอังคารที่ 30 เมษายน เวลา 10.00 — 18.00 น. ณ ระเบียงชั้น 1 อาคารนิทรรศการ มิวเซียมสยาม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 02-2252777 ต่อ 512, 400 หรือ www.facebook.com/museumsiamfan และwww.museumsiam.org