กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--สำนักงาน ส.อ.ท.
ตามที่เงินบาทมีการแข็งค่าอย่างผิดปกติในช่วงนี้ เห็นได้จากที่เงินบาทเปรียบเทียบกับเดือนมกราคมกับกลางเดือนเมษายน เห็นได้จากอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยอ้างอิง ณ วันที่ 22 เมษายน 2556 แข็งค่าไปถึง 28.660 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่อัตราแลกเปลี่ยนในการรับซื้อตั๋วเงินจากผู้ส่งออกอยู่ที่ 28.39 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เปรียบเทียบอัตราแลกเปลี่ยน ณ สิ้นปี 2555 (30.61 บาทต่อ USD) เงินบาทแข็งค่าไปถึงร้อยละ 6.37 ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทไทยแข็งค่ากว่าภูมิภาค เช่น เงินริงกิตของประเทศมาเลเซีย อ่อนค่าร้อยละ 0.17 เงินหยวนของจีน อ่อนค่าร้อยละ 0.06 และเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย อ่อนค่าร้อยละ 0.08 โดยพบว่าที่ผ่านมามีเงินทุนไหลเข้า (Capital Inflow) มาทำกำไรในประเทศไทยจำนวนมาก โดยช่วงก่อนสงกรานต์ ทั้ง ธปท. กระทรวงการคลัง รถไฟฟ้า BTS มีการออกพันธบัตรรวมกันมากกว่า 240,000 ล้านบาท กอปรกับช่วงหลังสงกรานต์เพียง 2 วัน มีเงินเข้ามาถึง 20,000 ล้านบาทเศษ รวมทั้งมีเงินไหลเข้าจากนักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งต้องการหาแหล่งปลอดภัยในการลงทุน นำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศที่ปลอดภัย โดยเฉพาะในตลาดพันธบัตรของไทย ทั้งนี้ แนวโน้มว่าการที่เงินเยนมีการอ่อนค่าในช่วง 3 เดือน ไปถึงร้อยละ 11.51 จะทำให้มีเงินไหลเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง (เฉพาะในช่วงนี้ เงินเยนแข็งค่าถึงร้อยละ 20) ซึ่งจะทำให้โอกาสที่เงินบาทจะแข็งค่าหลุดระดับไปที่ 28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คงจะเห็นได้ในไม่ช้า
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง และได้มีการจัดเสวนาร่วมกับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs รวมถึงผู้ประกอบการด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป พบว่าได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยมีปัจจัย เช่น (1) ผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบที่ใช้ส่วนใหญ่หรือทั้งหมดใช้ของผลิตภายในประเทศ (High Local Content) (2) กลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เทคโนโลยีสูง เป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ทำให้ขาดอำนาจต่อรองในการปรับราคา (3) การทำ Forward อัตราแลกเปลี่ยน มีข้อจำกัด ในส่วนที่เกี่ยวกับวงเงิน (4) ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ใช้แรงงานเข้มข้นได้รับผลกระทบจากต้นทุนค่าจ้างที่สูงขึ้น ส่วนใหญ่เกินกว่าร้อยละ 10-15 (5) ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็น เอาท์ซอร์ส หรือ OEM ยังถูกกดราคาและต่อรองราคาให้ต่ำ
ทั้งนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารประจำเดือน เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่ผ่านมา ได้มีการนำประเด็นเงินบาทแข็งค่าเป็นวาระหารือในที่ประชุม พบว่า การที่เงินบาทแข็งค่ามากขนาดนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกอย่างรุนแรง โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่มีการใช้วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ในประเทศสูง (High Local Content) ได้แก่ สินค้าเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าประมงแปรรูป กลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจะเป็นผู้ประกอบการในต่างจังหวัดและ SMEs ซึ่งมีขีดความสามารถต่ำในการต่อรองราคากับผู้ซื้อในต่างประเทศ และผลกระทบยังไปถึงกลุ่มผู้รับจ้างผลิต (OEM) และกลุ่มผู้รับจ้างผลิตสินค้าซึ่งเป็นผู้ส่งออกทางอ้อม
ผู้ประกอบการซึ่งเป็นกรรมการของ ส.อ.ท.ได้แจ้งว่า ผลกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกครั้งนี้มีความรุนแรง เพราะมีผลต่อการกำหนดราคาสินค้า รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการขาดทุน เมื่อต้องแปลงเงินดอลลาร์มาเป็นเงินบาท หากปล่อยไว้เนิ่นนานกว่านี้ และหรือเงินบาทแข็งค่าไปกว่าที่เป็นอยู่ SMEs และกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป และผู้ส่งออกที่ใช้ผลิตภัณฑ์ในประเทศเป็นหลัก จะได้รับความกระทบกระเทือนและส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก
โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณา มีทั้งหมด 5 มาตรการ โดยได้แนบท้ายไว้กับเอกสารฉบับนี้ อนึ่งฯ ทาง ส.อ.ท.จะจัดให้มีการเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางการแข็งค่าเงินบาท และกรณีศึกษาการแก้ปัญหาของผู้ประกอบการส่งออก” ในวันจันทร์ที่ 29 เมษายน 2556 เวลา 09.00 — 12.00 น. ณ ห้องสกายบอลรูมชั้น 8 โรงแรมวินด์เซอร์ สวีทส์ ซอยสุขุมวิท 20
มาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกและ SMEs ซึ่งได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า
(มาตรการนี้ได้ดำเนินการจัดส่งให้กับผู้การธนาคารแห่งประเทศไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2556)
1. ขอให้ดูแลเสถียรภาพเงินบาทไม่ให้มีความผันผวน โดยอัตราแลกเปลี่ยนขอให้สอดคล้องไปกับอัตราแลกเปลี่ยนของภูมิภาค รวมทั้งทบทวนมาตรการต่างๆ ซึ่งทาง ธปท.และกระทรวงการคลัง เคยออกมาแล้ว แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาเงินบาทไร้เสถียรภาพได้อย่างชัดเจน
2. มาตรการบริหารจัดการเงินทุนเคลื่อนย้าย (Capital Flow Management Measures) แนวโน้มที่เงินทุนจากต่างประเทศจะไหลเข้ามาทำกำไรในประเทศไทย จะมีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการผันผวนของตลาดหุ้น ตลาดทอง และตลาดคอมมิวนิตี้ อีกทั้ง การอัดฉีดสภาพคล่องของประเทศญี่ปุ่น ทำให้เงินเยนมีการอ่อนค่า โอกาสที่เงินจะไหลเข้ามาในประเทศไทยเป็นไปได้สูง จึงขอให้ ธปท.พิจารณาใช้มาตรการต่างๆ เช่น มาตรการเก็บภาษีเงินทุนไหลเข้า สำหรับกรณีที่เงินทุนไหลเข้ามาทำกำไรในระยะสั้น ซึ่ง ธปท.น่าจะพิจารณาว่า ช่วงนี้มีความจำเป็นจริงหรือไม่ที่จะนำเข้ามาใช้ แต่ต้องพิจารณาให้รอบคอบถึงผลกระทบที่จะมีต่อตลาดเงินและการระดมทุนของภาคเอกชน
3. การพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารเงินทุนไหลเข้า ขอให้ทาง ธปท. และคณะกรรมการนโยบายการเงิน ได้มีการพิจารณาในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีความเข้าใจได้ว่า ธปท.มีความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่ รวมถึงรับรู้ว่าการป้องกันเงินทุนไหลเข้า ไม่ได้เกิดจากปัจจัยอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียงอย่างเดียว ทาง ธปท.ควรจะมีการทบทวนและพิจารณาถึงความจำเป็นของผลกระทบที่อาจมีต่อภาคการส่งออก ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ควรพิจารณาอัตราที่เหมาะสมที่จะชะลอเงินทุนไหลเข้า แต่เห็นว่าอย่างน้อยต้องลดให้เหลือ ร้อยละ 2.0 (ดอกเบี้ยนโยบายของมาเลเซีย สิงคโปร์ และไต้หวัน อยู่ที่อัตราที่ใกล้เคียงกัน ร้อยละ 1.5 ขณะที่สหรัฐอเมริกา ดอกเบี้ยร้อยละ 1.0 ยุโรป ร้อยละ 0.75 และญี่ปุ่นร้อยละ 0.01)
4. ขอให้รัฐบาล และ ธปท. สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะให้ผู้ประกอบการมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งมีข้อจำกัดด้านวงเงิน และยังไม่สามารถเข้าถึงการทำ Currency Future หรือฟอร์เวิดอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า โดยให้มีการประสานงานและผลักดันให้มีกลไกค้ำประกันการทำสัญญาเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า
5. ขอให้ทบทวนและปรับเปลี่ยนมาตรการต่างๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยขอให้ภาครัฐมีการทบทวนมาตรการต่างๆ ซึ่งเคยออกมาเพื่อป้องกันเงินทุนไหลเข้า ซึ่งเข้ามาเก็งกำไรในระยะสั้น รวมถึงทบทวนมาตรการอื่นๆ เช่น
(1) มาตรการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเร่งรัดในการซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศ ซึ่งเหตุผลในการซื้อเครื่องจักรขึ้นอยู่กับแผนการขยายการผลิต ซึ่งจะต้องมีการเตรียมสถานที่ โดยเฉพาะแหล่งทุน
(2) มาตรการส่งเสริมให้นำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ ถึงแม้ว่าจะมีการผ่อนคลายระเบียบการควบคุม เคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปต่างประเทศ แต่ปัจจัยสำคัญในการลงทุนในต่างประเทศ คงไม่ได้เกิดจากเงินบาทแข็งค่าหรืออ่อนค่า แต่ขึ้นอยู่กับศักยภาพของผู้ประกอบการ จำเป็นจะต้องมีการวางแผน ทั้งด้านเงินทุน ตลาด บุคลากร และอีกมากมาย
(3) การผ่อนคลายกฎเกณฑ์ระยะเวลาถือครองเงินตราต่างประเทศของผู้ส่งออก ให้สามารถฝากเงินตราต่างประเทศไว้ในบัญชีเงินตราต่างประเทศ หรือ FCD ได้นานสูงสุดถึง 2 ปี นับแต่วันที่มีการรับเงิน แต่ในสถานภาพที่เงินบาทมีการแข็งค่า ไม่ทราบว่าจุดใดจะเป็นจุดที่แข็งค่าสูงสุด ผู้ส่งออกก็ไม่กล้าที่จะถือครองดอลลาร์ไว้นาน อีกทั้ง ผู้ส่งออกที่เป็น SMEs ขาดสภาพคล่อง มีความจำเป็นที่จะต้องแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์เป็นเงินบาท เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่าย และทุนหมุนเวียนของธุรกิจ
(4) การส่งเสริมให้มีการทำฟอร์เวิด เป็นการประกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนกับสถาบันการเงินในช่วงที่เงินบาทมีการแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง การทำฟอร์เวิดก็ไม่ใช่หลักประกันที่จะไม่ให้มีการขาดทุน ยิ่งในช่วงนี้มีการทำฟอร์เวิดมาก ก็จะยิ่งมีความเสียหายมาก แต่ก็ยังเป็นมาตรการที่จำเป็น เพียงแต่ต้องให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการส่งออกที่ยังมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ยังไม่มาก
(5) ขอให้ทบทวนมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง ภาครัฐมีแนวทางต่างๆ ในการช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการส่งออก ซึ่งได้รับผลกระทบจากการขาดทุน อันเกิดจากการแข็งค่าของเงิน บาท ซึ่งเห็นว่าเป็นมาตรการที่ดี แต่ควรมีการปรับเปลี่ยน ให้ SMEs สามารถเข้าถึงมาตรการเหล่านี้ได้อย่างจริงจัง เพราะหากปล่อยกู้ตามมาตรการปกติผ่านธนาคารของรัฐ การพิจารณาอนุมัติเงินกู้มีความล่าช้า หากจะให้มาตรการนี้สัมฤทธิ์ผล จะต้องออกเป็นการปล่อยกู้ด้วยวิธีการผ่อนปรนหลักประกันเป็นกรณีพิเศษ นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องผ่านโครงการ Venture Capital ควรพิจารณาว่ามีความเหมาะสมเพียงใดกับกรณีช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า