กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--ซีอีโอ อกริฟู้ด
จุฬา-ฮาร์วาร์ด รวมพลังคนรุ่นใหม่กระตุ้นสังคมเคารพสิทธิ ให้โอกาสทางการศึกษาลดความเหลื่อมล้ำ สำคัญที่คุณค่าความเป็นคน
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สถาบันการศึกษาที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงของโลก ซึ่งเป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับว่ามีบทบาทและอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนแนวคิดของผู้คนทั่วโลก มีศิษย์เก่าและเครือข่ายที่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายคน ในทุกๆปีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจะคัดเลือกมหาวิทยาลัยจากทั่วโลกที่มีศักยภาพในการเป็นผู้นำความคิดทางสังคม ซึ่งจะร่วมมือและผลักดันปัญหาด้านต่างๆของประชาคมโลก สำหรับในปีนี้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้จับมือร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็น 1 ใน 6 มหาวิทยาลัยชั้นนำของเอเชียในการจัดกิจกรรมตามโครงการ Harvard College in Asia Program : HCAP จัดการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง“Civil and Minority Rights”ขึ้น เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน และยังเป็นการเพิ่มมุมมองและโลกทัศน์ใหม่ๆให้กับนิสิตนักศึกษาทั้งสองฝ่าย โดยมีนิสิตนักศึกษาของทั้งสองมหาวิทยาลัยต่างผลัดกันบินลัดฟ้าไปร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมในทั้งสองประเทศ
สำหรับประเทศไทยในความร่วมมือของปัญญาชนคนจุฬา-ฮาร์วาร์ด ได้รับเกียรติจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นองค์ปาฐกในหัวข้อ “The Future of ASEAN” ภายใต้คอนเซปต์“Civil and Minority Rights” ซึ่งได้เรียกร้องให้คนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจและร่วมกันสร้างความตระหนักในเรื่องสิทธิมนุษยชนให้ครอบคลุมในทุกด้าน พร้อมร่วมกันผลักดันสังคมไทยในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งจะมีความร่วมมือระหว่างกันในภูมิภาคทั้งในด้านการเมืองและความมั่นคง , เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
นอกจากนี้ยังได้วิทยากรร่วมบรรยายในกิจกรรมนี้ อย่าง ทิม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ศิษย์เก่าฮาร์วาร์ด ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด เจ้าของธุรกิจซึ่งบุกเบิกและดำเนินธุรกิจจากแรงบันดาลใจที่จะเพิ่มมูลค่าของรำข้าวไทย โดยให้ความสำคัญกับชาวนาซึ่งเป็นต้นน้ำสำหรับพร้อมรับการแข่งขันระดับนานาชาติมาแสดงทรรศนะในหัวข้อ “Thai Outlook on Social Inequalities” ซึ่งเป็นมุมมองที่เกี่ยวกับความไม่เสมอภาคกันทางสังคมโดยเน้นมุมมองทางธุรกิจและสังคมเป็นหลัก พบว่าภาคธุรกิจของไทยมีองค์ประกอบหลักมาจาก 3 ภาคส่วน คือ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการบริการ ซึ่งคนไทยเกือบ 70 ล้านคนหรือ 42 เปอร์เซ็นต์ประกอบอาชีพเกี่ยวข้องการการเกษตร แต่หากมองด้านรายได้กลับพบว่าประชาชนในภาคเกษตรกลับมีรายได้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ประเทศไทยเท่านั้น และที่น่าเป็นห่วงคือประเทศไทยมีอัตราความยากจนอยู่ที่ 4 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับมาตรฐานโลก ในการแก้ไขปัญหาความเลื่อมล้ำทางสังคมในระยะยาวคือการสร้างโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียบกันระหว่างคนจนกับคนรวย เพราะการศึกษาจะมีส่วนสำคัญที่สุดในการพัฒนาคนให้เกิดองค์ความรู้มาใช้พัฒนาประเทศ และให้ความสำคัญกับผู้ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ให้โอกาสในการเป็นเจ้าของที่ดินทำกิน เนื่องจากที่ผ่านมาพื้นที่ในประเทศไทยตกอยู่ภายใต้กรรมสิทธิ์ของประชากรเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ โดยที่ดิน 40 เปอร์เซ็นต์ถูกทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการใช้ประโยชน์ ดังนั้นจึงอยากให้คนรุ่นใหม่และนักธุรกิจไทยร่วมกันสร้างโอกาสให้กับคนกลุ่มนี้ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในด้านการผลิตและการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าด้านการเกษตรของไทย ซึ่งองค์ความรู้ในภูมิปัญญาชาวบ้านในการสร้างสินค้าทางการเกษตรที่มีคุณภาพและมีเอกลักษณ์ มาผนวกกับการบริหารจัดการและทำการตลาดแบบมืออาชีพ เชื่อว่าจะผลักดันสินค้าเกษตรกรรมของไทยให้ไปยืนบนเวทีโลกได้ เพื่อที่จะสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ของประเทศให้ดีขึ้น เป็นการขับเคลื่อนไปพร้อมๆกันทั้งในภาคธุรกิจและสังคมอย่างยั่งยืนควบคู่กันไป
การจัดกิจกรรมครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสที่คนรุ่นใหม่ที่ไม่ว่าอยู่ส่วนใดในโลก สามารถแสดงพลังของความคิดสร้างสรรค์ในการกระตุ้นเตือนสังคมให้เคารพสิทธิมนุษยชนในแง่มุมต่างๆ โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือคุณค่าความเป็นคนที่ไม่ควรมองข้ามแต่ควรรักษาไว้ด้วยความภาคภูมิใจ