กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--บล.เอเซีย พลัส
นางสาวนฤมล อาจอำนวยวิภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับ CPAL08CE ภายหลังมีความชัดเจนในการเข้าซื้อกิจการ บมจ.สยามแมคโคร (MAKRO) ของ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนจำนวนมากพุ่งเป้าความสนใจไล่ซื้อ CPAL08CE ทุกราคาบนกระดาน จนทำให้วอลุ่มในฝั่งเสนอขาย (Offer) หายไปจากกระดาน มีเพียงวอลุ่มในฝั่งเสนอซื้อ (Bid) ข้างเดียว สะท้อนถึงมุมมองเชิงบวกต่อการเข้าซื้อกิจการ และแนวโน้มผลประกอบการของหุ้นอ้างอิงในอนาคต
“แม้ราคาของ CPALL จะร่วงลงอย่างหนัก ภายหลังข่าวการเข้าซื้อกิจการ MAKRO ของ CPALL ที่ราคา 787 บาทต่อหุ้น ด้วยเงินสูงถึง 1.88 แสนล้านบาท แต่นักลงทุนหลายคนกลับมองว่าเป็นโอกาสในการเข้าซื้อ CPAL08CE เพื่อรอลุ้นการรีบาวด์ของหุ้นอ้างอิง จึงส่งผลให้เกิดการไล่ซื้อ CPAL08CE บนกระดานตลาดหลักทรัพย์ฯ” คุณนฤมล กล่าว
ด้วยเหตุนี้ บล. เอเซีย พลัส จึงได้ยื่นคำขอออก CPAL08CE ส่วนเพิ่มกับสำนักงาน ก.ล.ต. และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อีกจำนวน 30 ล้านหน่วย เพื่อดูแลสภาพคล่องให้กับ CPAL08CE และ เพื่อให้นักลงทุนที่สนใจเข้าซื้อขายได้เพิ่มเติมบนกระดานตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันที่จันทร์ที่ 29 เม.ย. 56 นี้
นายกวี มานิตสุภวงษ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยไทย บล. เอเซีย พลัส เชื่อมั่นต่อผลประโยชน์ที่ CPALL จะได้รับในระยะยาว และให้คำแนะนำ “ซื้อ” พร้อมกับเพิ่มมูลค่าพื้นฐานหุ้นขึ้นจากเดิม 52 บาท เป็น 60 บาท แม้หลังควบรวมกิจการ สัดส่วนหนี้มีภาระดอกเบี้ยจะสูงขึ้น แต่ผลประกอบการที่ดีจะนำกระแสเงินสดจากการดำเนินงานมาทยอยลดหนี้ได้ ช่วยให้สัดส่วนหนี้ดังกล่าวลดลง บวกกับ CPALL ให้ความเชื่อมั่นว่าจะไม่มีการเพิ่มทุนในระยะ 1.5 ปี ในบทวิเคราะห์ยังระบุว่า CPALL จะกลายเป็นบริษัทโมเดิร์นเทรดรายใหญ่อันดับ 3 ของเอเซีย มียอดขายรวมสูงถึง 3.13 แสนล้านบาท รวมทั้งเกิด Synergies รวมกันระหว่าง CPALL และ MAKRO ในการทำกำไร อาทิ การเพิ่มขึ้นของอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์ และการประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้ระบบโลจิสติกส์ขนส่งสินค้าร่วมกัน นอกจากนี้ในการขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อตักตวงประโยชน์ที่ได้รับจาก AEC ในอนาคต จะใช้ MAKRO เป็นตัวชูโรงขยายธุรกิจในประเทศกัมพูชา พม่า ลาว และเวียตนาม เนื่องจากแบรนด์ 7-11 ยังติดเงื่อนไขต้องขอลิขสิทธิ์จากบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น
ทั้งนี้ บล. เอเซีย พลัส ยังคงมุ่งมั่นในการทำหน้าที่ในฐานะผู้ดูแลสภาพคล่องของ CPAL08CE และใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrant : DW) ทุกรุ่นที่ออกโดยบริษัทฯ พร้อมกันนี้บริษัทฯจะพิจารณาออก DW อ้างอิงบนหุ้นที่มีพื้นฐานดี และมีผลการดำเนินงานเติบโตในระยะยาว ดังตัวอย่างของ CPAL08CE ที่ราคาปิดครึ่งเช้า ณ วันที่ 25 เม.ย. 56 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 0.83 บาท จากราคาปิดของวันก่อนหน้าที่ 0.66 บาท คิดเป็นผลตอบแทนประมาณ 25% ในวันทำการถัดมา หลังนักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการเข้าซื้อกิจการ และเชื่อมั่นต่อผลประโยชน์ที่หุ้นอ้างอิงจะได้รับในอนาคต