กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--กรมควบคุมโรค
ข้อมูลชี้แต่ละปีทั่วโลกจะมีผู้ป่วยมาลาเรียประมาณ 300 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี สำหรับสถานการณ์โรคมาลาเรียทั่วโลกพบว่าขณะนี้มีการแพร่เชื้อแล้วใน 104 ประเทศ ส่วนประเทศไทยจากรายงานของระบบเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 5 เมษายน 2556 โดยพบผู้ป่วยมาลาเรียเป็นชายไทย 2,444 ราย ลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และพบผู้ป่วยต่างชาติ 2,169 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “มาลาเรีย” ถือเป็นโรคติดต่อสำคัญ และเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยจะต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน การแพร่เชื้อโรคมาลาเรียส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ไทย-กัมพูชา และไทย-ลาว ซึ่งพบว่ามีถึง 22 จังหวัด ที่มีผู้ป่วยมาลาเรียจำนวนมาก ได้แก่ ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย กาญจนบุรี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี สระแก้ว จันทบุรี ตราด ชลบุรี ระยอง ชุมพร เพชรบุรี ราชบุรี ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ พังงา สุราษฏร์ธานี และสงขลา
เนื่องในวันมาลาเรียโลกปี 2556 นี้ พบว่าทั่วโลกมีการดำเนินงานภายใต้คำขวัญ ที่ว่า “Invest in the future : Defeat Malaria” “ร่วมลงทุนเพื่ออนาคตที่สดใส ร่วมใจเอาชนะมาลาเรีย โดยใช้กลยุทธ์สำคัญ 3 ด้าน คือ 1.ควบคุมโรคมาลาเรียในประเทศที่มีภาระโรคสูง เพื่อลดการป่วยและตาย 2.กำจัดโรคมาลาเรียในประเทศที่มีภาระโรคน้อย เพื่อลดการแพร่โรคมาลาเรีย และ 3.ลงทุนให้งบประมาณแก่งานวิจัยและพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยต่อสู้กับโรคมาลาเรีย เพื่อก้าวไปข้างหน้าก่อนเชื้อมาลาเรียดื้อยาและยุงพาหะจะดื้อสารเคมีจนควบคุมได้ยาก ทำให้การต่อสู้กับโรคมาลาเรียมีความก้าวหน้าในการพัฒนาเครื่องมือและวิธีการใหม่ๆ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากภาคส่วนต่างๆ ในการป้องกันควบคุมโรคมาลาเรียที่ส่งผลให้การป่วยและการตายจากโรคมาลาเรียลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ด้าน ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในโอกาสวันมาลาเรียโลกปีนี้ซึ่งตรงกับวันที่ 25 เมษายน 2556 กรมควบคุมโรคได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุขให้จัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนรู้จักวิธีการป้องกันและควบคุมโรคมาลาเรีย โดยเน้นการป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงก้นปล่องที่เป็นพาหะนำโรคมาลาเรียกัด พร้อมทั้งได้มีการจัดระบบการป้องกัน เฝ้าระวังโรค และร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านแก้ไขปัญหามาลาเรียตามพื้นที่ชายแดนและข้ามเขตแดน เพื่อยับยั้งการแพร่เชื้อมาลาเรียครอบคลุมพื้นที่ของประเทศให้ได้กว่าร้อยละ 80 ให้ประเทศไทยปลอดมาลาเรียให้ได้ภายในปี 2563
“ส่วนวิธีง่ายๆในการป้องกันตนเองเพื่อมิให้ยุงก้นปล่องกัด สำหรับประชาชนที่อาศัยหรือผู้ที่เดินทางไปท่องเที่ยวในพื้นที่ตามแนวชายแดน โดยเฉพาะตามพื้นที่ชายแดน บริเวณที่เป็นภูเขาสูง ป่าทึบ และมีแหล่งน้ำ ลำธาร ซึ่งเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ของยุงก้นปล่อง อาจเสี่ยงเป็นโรคมาลาเรียได้ ควรเตรียมมุ้งหรือเต้นท์ชนิดที่มีตาข่ายกันยุง นอนในมุ้งชุบสารเคมี และสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว แนะนำให้ใช้สีอ่อนๆ เพราะการใส่เสื้อผ้าสีดำ มักดึงดูดความสนใจให้ยุงกัดได้มาก รวมทั้งควรสุมไฟเพื่อไล่ยุง หรือจุดยากันยุง หรือทายากันยุงที่แขน ขา ใบหู หลังคอ อีกวิธีที่ทำให้ง่ายๆด้วยตนเอง คือ การใช้ต้นตะไคร้หอม โดยนำต้นที่มีขนาดยาวพอเหมาะ 2 ต้น มาพันรอบเอวคล้ายเข็มขัด ก่อนจะออกไปทำงานหรือไปกรีดยางในสวนยางพารา ซึ่งตะไคร้หอมนี้มีฤทธิ์สามารถกันยุงได้ ที่สำคัญเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น และหลังการกลับจากป่า หากมีอาการหนาวสั่น มีไข้ ปวดศีรษะ ผิวหนังซีด อาเจียน เบื่ออาหาร บางรายปวดศีรษะมากอาจปวดลึกเข้าไปในกระบอกตา กระสับกระส่าย เพ้อ กระหายน้ำ ชีพจรเต้นเร็ว คลื่นไส้อาเจียน มีเหงื่อออกชุ่มตัว ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทุกแห่งใกล้บ้านหรือที่ หน่วยมาลาเรีย เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และต้องแจ้งประวัติการเข้าป่าหรือไปบริเวณพื้นที่เสี่ยงให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อให้การรักษาที่รวดเร็ว โรคนี้มียารักษาหาย หากรักษาเร็ว จะช่วยลดความรุนแรงของโรค และลดอัตราการเสียชีวิตได้ โดยขอให้กินยาหรือฉีดยาจนครบ เพื่อให้หายขาดและป้องกันเชื้อดื้อยา หากสงสัยอาการของโรคมาลาเรีย สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์กระทรวงสาธารณสุข โทร. 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร 0 2590 3333” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
ติดต่อ:
สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค
โทรศัพท์: 0-2590-3862 / โทรสาร: 0-2590-3386