กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--ไอแอมพีอาร์
Social Network หรือ สังคมออนไลน์ ได้เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์ยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก ทั้งการเป็นเครื่องมือในการทำงาน การติดต่อสื่อสาร การติดตามข่าวสารประจำวัน หรือแม้แต่การสร้างความบันเทิง โดยมีผลสำรวจจาก Internet World Stats พบว่าประเทศไทยมีผู้ใช้เฟซบุ๊กมากกว่า 16 ล้านคน และในจำนวนนี้มีผู้เล่นตั้งแต่วัยประถมไปจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ social network ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือก่ออาชญากรรมหรือสร้างปัญหาให้กับบุคคล ครอบครัว และสังคมรูปแบบต่างๆ มากมาย
จากปัญหาดังกล่าว โรงพยาบาลมนารมย์ โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต จึงได้จัดการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การดูแลลูกในยุค Social Network” ขึ้นโดยได้รับเกียรติจาก นางสาวอัจฉรา บุนนาค นักจิตบำบัดอาวุโส โรงพยาบาลมนารมย์ ผู้มากประสบการณ์จากสหรัฐอเมริกา ร่วมถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ และเทคนิคในการดูแลบุตรหลาน เพื่อสร้างความตระหนักและรู้เท่าทันถึงประโยชน์โทษภัยจากการใช้เทคโนโลยีสื่อสารอันทันสมัย ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดช่องว่างระหว่างวัย เติมความรัก สร้างความเข้าใจในครอบครัวและป้องกันปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับลูกหลานในโลกแห่งการสื่อสารไร้พรมแดน
นางสาวอัจฉรา บุนนาค นักจิตบำบัดอาวุโส โรงพยาบาลมนารมย์ อธิบายว่า คอมพิวเตอร์และเครื่องมือสื่อสารทันสมัยเป็นสิ่งที่มีประโยชน์เมื่อนำไปใช้อย่างถูกต้อง ในครอบครัวที่เปิดโอกาสให้บุตรหลานใช้คอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตก็มีผลดี ในการช่วยให้เด็กมีความสนุกสนานเพลิดเพลิน หาความรู้ ฝึกทักษะสมาธิ ฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อและพัฒนาการประสานการทำงานระหว่างมือและตาด้วย แต่เมื่อไรที่ผู้ปกครองปล่อยให้เด็กอยู่กับคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเพียงลำพัง ก็เทียบเท่ากับปล่อยให้เด็กก้าวเข้าสู่โลกเสมือนจริงที่มีภัยร้ายแฝงอยู่มากมาย หากเด็กไม่สามารถแยกแยะและระวังตัว
“ในสังคมที่เต็มไปด้วยการดิ้นรนทำให้พ่อแม่ต้องช่วยกันทำงาน จนไม่มีเวลาดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ซึ่งมีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่มีความคิดผิดๆ ว่าการให้ลูกเล่นคอมพิวเตอร์อยู่ที่บ้านปลอดภัยกว่าออกไปเล่นข้างนอก จึงปล่อยให้เด็กอยู่กับโลกออนไลน์อย่างอิสระเป็นเวลานาน ในขณะที่เด็กที่พ่อแม่ปล่อยให้อยู่อย่างโดดเดี่ยวหรือมีปัญหาภายในครอบครัวมักจะเกิดความเหงา ซึ่งเด็กทั้ง 2 กลุ่มนี้จะพากันเดินหลงเข้าไปอยู่ในโลกของเกมส์และสังคมออนไลน์อย่างเต็มตัว เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ได้ถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการทางจิตใจในการเป็นโลกเสมือนจริงที่เด็กสามารถสร้างโลกตามที่ตนเองต้องการได้ นำไปสู่การใช้งานที่ไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดปัญหาได้ทั้งทางกายและทางใจ รวมถึงเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของอาชญากรในโลกไซเบอร์อย่างง่ายดายอีกด้วย” นางสาวอัจฉราอธิบาย
สาเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เด็กติดเกมส์ออนไลน์ เกิดจากรูปแบบของเกมส์สร้างความตื่นเต้นตลอดเวลา ทำให้เด็กเกิดอารมณ์พึงพอใจ นำไปสู่อาการเสพติด ซึ่งทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น อาการเจ็บป่วยทางกายทั้งปวดศีรษะและกล้ามเนื้อ โรคกระเพาะ ขาดสารอาหาร ในขณะเดียวกันเด็กจะขาดความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว มี “อีคิว” ต่ำ เนื่องจากขาดการเรียนรู้และสัมผัสอารมณ์ตามความเป็นจริง ทำให้มีปัญหาการปรับตัวเข้าสังคมและอยู่ร่วมกับผู้อื่น ซึ่งยิ่งจะทำให้เด็กติดเกมส์มากยิ่งขึ้น เพราะในโลกของเกมส์สามารถตอบสนองความต้องการของตนเองได้ดีกว่าโลกแห่งความเป็นจริง นำไปสู่พฤติกรรมต่อต้านสังคม ที่มักจะนึกถึงแต่ตนเองเป็นหลัก ไม่สามารถเข้าใจถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น ไม่รู้สึกผิดชอบชั่วดีหรือเสียใจต่อสิ่งที่ตนเองได้กระทำลงไปว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้อื่นหรือไม่ อีกทั้งยังทำให้ “ไอคิว” ต่ำ เนื่องจากขาดการเรียนรู้เชิงวิชาการตามความเหมาะสมของช่วงวัย
ในขณะที่ปัญหาที่เกิดจากการใช้ Social Network มักเกิดจากการไม่รู้เท่าทัน และรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้เล่น โดยเฉพาะการแชทพูดคุยกับคนแปลกหน้า การอวดโชว์รูปร่างหน้าตาและทรัพย์สินมีค่า รวมถึงการแชร์หรือส่งต่อข้อมูลที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อตนเองและผู้อื่น ที่ผิดต่อหลักกฎหมายหรือจริยธรรม ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ให้แสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะของผู้เล่น ที่นอกจากจะสร้างความเดือนร้อนให้ผู้อื่นแล้ว ยังง่ายต่อการตกเป็นเหยื่อของผู้แสวงหาผลประโยชน์ที่แฝงตัวอยู่ในสังคมออนไลน์ด้วย
“พ่อแม่ควรกำหนดกติกาในการใช้คอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตร่วมกับลูก โดยให้ลูกมีส่วนร่วมในการตั้งกฎ เพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของและสมัครใจทำตามกฎของตนเอง เป็นการฝึกให้เด็กมีระเบียบวินัย เมื่อลูกปฏิบัติตามกฎก็ควรให้คำชื่นชมและตอบแทนตามสมควร หากมีการฝ่าฝืนกฎควรก็มีบทลงโทษที่เหมาะสมเช่นกัน และพ่อแม่ควรส่งเสริมให้ลูกได้ทำกิจกรรมสันทนาการอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย นอกเหนือจากการใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต” นักจิตบำบัดอาวุโสกล่าว
นางศรีสุรางค์ อธิวัฒน์ประชากุล คุณแม่วัย 38 ปี ผู้ร่วมฟังบรรยาย ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดกติกาการใช้แท็บเล็ตร่วมกับลูกว่า เป็นสถานการณ์ที่น่าลำบากใจ เนื่องจากระบบการศึกษาในปัจจุบันได้ส่งเสริมให้เด็กเข้าถึงคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และโลกออนไลน์ได้ง่ายกว่าในอดีต
“ปัจจุบันลูกชายวัย 4 ขวบมักกลับมาตั้งคำถามที่บ้านว่า ทำไมเพื่อนถึงสามารถเล่นแท็บเล็ตนอกเวลาเรียนได้ โดยไม่ต้องทำความดีเหมือนที่แม่ตั้งกติกาไว้ ซึ่งแม่พยายามอธิบายว่าเพื่อนๆ อาจทำความดีโดยที่ลูกไม่รู้ แล้วพยายามเบี่ยงเบนประเด็นว่า แล้ววันนี้ลูกได้ทำความดีที่สมควรได้เล่นแท็บเล็ตแล้วหรือยัง ซึ่งลูกจะพยายามทำความดีทุกวัน และทุกครั้งแม่จะให้คำชื่นชมตามความเหมาะสม ซึ่งก็ช่วยให้ลูกเข้าใจและยินยอมปฏิบัติตามกฎ เพราะรู้สึกภาคภูมิใจในสิ่งที่ตนเองทำ” นางศรีสุรางค์กล่าว
“พ่อแม่ควรเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่จากลูกอยู่เสมอ โดยไม่คิดว่าใครเป็นเด็กใครเป็นผู้ใหญ่ พ่อแม่ควรเรียนรู้ทั้งเรื่องเกมส์ และการใช้สังคมออนไลน์จากลูก ไม่ควรใช้ความคิดตนเองเป็นที่ตั้งว่าสิ่งเหล่านี้ดีหรือไม่ดี สิ่งเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญของการดูแลลูกในยุค Social Network โดยขอให้ตระหนักเสมอว่าเด็กย่อมเติบโตขึ้นไปและมีประสบการณ์ความรู้เพิ่มพูนขึ้นตามลำดับ การรับฟังเรื่องราวๆ ใหม่จากลูก จะทำให้เกิดพูดคุยแลกเปลี่ยน เป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีและการยอมรับกันในครอบครัว เมื่อพ่อแม่เปิดใจรับฟังและเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของลูกแล้ว ก็จะนำไปสู่กระบวนการแก้ปัญหาและการสร้างภูมิคุ้มกันในใจลูกได้ไม่ยาก ด้วยการสร้างความมั่นคงภายในจิตใจ ช่วยให้เด็กไม่หลงไปกับกระแสสังคมที่ไม่ดี” นักจิตบำบัดอาวุโส โรงพยาบาลมนารมย์กล่าวสรุป.