กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเปิดเผยว่า บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s Investors Service (Moody’s) ได้เผยแพร่รายงานล่าสุดเกี่ยวกับการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของประเทศไทยเมื่อเย็นวันที่ 25 เมษายน 2556 โดยยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลสกุลเงินบาทและสกุลเงินตราต่างประเทศของประเทศไทย (Local and foreign government bonds) อยู่ที่ระดับ Baa1 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความแข็งแกร่งทางการเงินของรัฐบาลที่อยู่ในระดับสูง ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจและโครงสร้างที่อยู่ในระดับปานกลาง และความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่อยู่ในระดับต่ำ
แนวโน้มความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ
ความแข็งแกร่งทางการเงินของรัฐบาลที่อยู่ในระดับที่สูงมีพื้นฐานมาจากภาระหนี้ของรัฐบาลที่ค่อนข้างต่ำโดยเปรียบเทียบ อันเป็นผลมาจากการระดมทุนที่เพียงพอจากตลาดทุนในประเทศที่มีความลึก แม้ว่าการเคลื่อนไหวของรายได้จะอ่อนแอที่สุดในกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในช่วง A3 - Baa2 แต่การยึดมั่นในวินัยทางการคลังทำให้มั่นใจได้ว่าการขาดดุลจะอยู่ในวงจำกัดอย่างมาก
ในขณะที่ Moody’s ไม่ได้คาดการณ์ถึงการเสื่อมถอยในตัวชี้วัดทางการคลัง ในปี 2556 — 2557 แม้ว่านโยบายประชานิยมมีทีท่าว่าจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อวินัยทางการคลัง และการเพิ่มการใช้จ่ายนอกงบประมาณ ทำให้ความโปร่งใสลดลง ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดต่ำในด้านสภาพคล่องต่างประเทศที่เนื่องมาจากสถานะการชำระคืนหนี้ต่างประเทศที่เข้มแข็งถึงแม้ว่าสัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อ GDP จะเพิ่มขึ้นในปี 2555 ก็ตาม
ในด้านความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในรูปตัวเงิน (Nominal GDP) ของไทยอยู่ที่ 366 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2555 ทำให้ขนาดเศรษฐกิจไทยใหญ่เป็นอันดับที่ 29 ในการจัดอันดับของ Moody’s ทั่วโลก โดยใหญ่เป็นอันดับที่ 9 ในกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในกลุ่ม Baa และเป็นอันดับที่ 2 ในกลุ่มอาเซียน รองจากประเทศอินโดนีเซีย โดยการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) อยู่ที่ร้อยละ 6.4 ในปี 2555 นับเป็นการเติบโตที่เข้มแข็งที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค ซึ่งการเติบโตของ GDP รายไตรมาส ขยายตัวจากร้อยละ 0.4 ในไตรมาสแรก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นร้อยละ 18.9 ในไตรมาสสี่ ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ โดยเศรษฐกิจของไทยที่มีขนาดใหญ่และมีความหลากหลาย ซึ่งพิจารณา
จากความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการผลิตที่สร้างมูลค่าเพิ่ม การท่องเที่ยว และการส่งออกทางการเกษตร ที่อยู่ในระดับปานกลางได้ฟื้นตัวจากผลกระทบอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ทั้งนี้ Moody’s ได้คาดการณ์อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) ที่ร้อยละ 5 ในปี 2556 และ 2557 ซึ่งสนับสนุนโดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง ในขณะที่การฟื้นตัวของการส่งออกยังคงอ่อนตัวลงจากอุปสงค์ภายนอกที่ยังคงเปราะบางและการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากกว่าร้อยละ 5.4 ต่อเงินเหรียญสหรัฐตั้งแต่ช่วงต้นปี
ประเทศไทยแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของสถาบันในระดับพอสมควร
ถึงแม้ความตึงเครียดและการแบ่งขั้วทางการเมืองยังคงส่งผลต่อระบบการเมืองของไทยตั้งแต่เกิดการปฏิวัติในปี 2549 แต่โครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งได้ช่วยรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคและบรรยากาศการลงทุนให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้
วินัยทางการคลังถูกทดสอบโดยวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สัดส่วนทางการคลังและสัดส่วนหนี้ยังคงสอดคล้องกับประเทศในกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน ถึงแม้จะรวมผลกระทบเชิงลบจากนโยบายการคลังแบบประชานิยม อีกทั้งประเทศไทยยังมีสถานะการชำระหนี้ต่างประเทศที่แข็งแกร่ง ที่เอื้อประโยชน์ต่อการระดมทุนของรัฐบาลและต่อเศรษฐกิจในภาพรวม
นอกจากนี้ ความอ่อนไหวของประเทศไทยต่อความเสี่ยงในการเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง เนื่องจากการถ่วงดุลกันระหว่างความเสี่ยงทางการเมืองกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจและการเงินที่มีความยืดหยุ่น ส่วนระบบธนาคารที่มีเสถียรภาพช่วยในการบรรเทาความเสี่ยงที่เกิดจากเหตุการณ์ไม่คาดคิดทางการเงิน โดย Moody’s จัดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเฉลี่ยสำหรับธนาคารของประเทศไทยที่ระดับ D+ ซึ่งสูงกว่าทั่วโลกที่อยู่ในระดับ D ทั้งนี้ ในปี 2551 งบดุลของธนาคารได้รับเพียงผลกระทบทางอ้อมจากวิกฤตการเงินโลกและวิกฤตหนี้ของประเทศในยุโรป ในทำนองเดียวกัน เหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 ส่งผลกระทบต่อระบบธนาคารของประเทศไทยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ส่วนวิจัยนโยบายหนี้สาธารณะ สำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
โทร. 02 265 8050 ต่อ 5505, 5522