"ศิริวัฒน์" ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานการณ์เพาะเลี้ยงกุ้งภาคตะวันออก พบอัตราการพบโรคตายด่วนลด คาดสถานการณ์การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเร็วๆนี้

ข่าวทั่วไป Monday April 29, 2013 11:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชมฟาร์มกุ้งทะเลภาคตะวันออก ณ สุรีรัตน์ฟาร์ม บุณณวิทย์ฟาร์ม จ.จันทบุรี และประเสริฐฟาร์ม จ.ตราด ว่า จากการลงพื้นที่เพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในครั้งนี้ พบว่า สถานการณ์การพบอาการตายด่วนในกุ้งมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากอัตราการพบโรคที่ลดลง ซึ่งปัจจัยสำคัญคือกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้กรมประมงดำเนิน มาตรการแก้ไขปัญหาภายใต้โครงการรวมพลังยับยั้ง EMS มาตั้งแต่เกิดปัญหาดังกล่าว โดยส่วนของกรมประมงได้เน้นเรื่องการปรับปรุงระบบสุขอนามัยและกรรมวิธีการเลี้ยงดูพ่อแม่พันธุ์กุ้งทะเล การผลิตลูกกุ้งคุณภาพ การคัดกรองลูกกุ้งคุณภาพเข้าสู่การผลิตและการปรับปรุงวิธีการจัดการเลี้ยงกุ้งในบ่อดินมาอย่างเข้มข้น ซึ่งจากการที่กรมประมงได้พยายามเร่งแก้ไขปัญหารวมถึงการหาสาเหตุการเกิดโรคดังกล่าว ผลการดำเนินการขณะนี้ พบว่า ได้มีการปรับปรุงสุขอนามัยโรงเพาะฟักกุ้งทะเลต้นน้ำ (โรงผลิตนอเพลียส) เพื่อป้องกันความสูญเสียจากกลุ่มอาการตายด่วน มีโรงเพาะฟักเข้าร่วมโครงการจำนวน 27 โรง ทั่วประเทศ สามารถดำเนินการปรับปรุงและให้การรับรองแล้วจำนวน 10 โรง อยู่ในระหว่างการรอให้การรับรอง จำนวน 2 โรง อยู่ในระหว่างการตรวจประเมิน จำนวน 4 โรงและ กำลังปรับปรุงรอการตรวจประเมิน อีก 11 โรง ขณะที่การปรับปรุงสุขอนามัยโรงอนุบาลลูกกุ้งทะเลทั่วประเทศ ตามข้อแนะนำของที่กรมประมง และจำหน่ายลูกกุ้งขาวที่ได้มาตรฐานตามที่กรมประมงกำหนดโดยมีโรงอนุบาลกุ้งพีเข้าร่วมโครงการ 56 โรง ทั่วประเทศและมาตรการสำคัญ คือ การส่งเสริมและให้คำแนะนำแนวทางการเลี้ยงกุ้งทะเลให้กับเกษตรกรบ่อดินทั่วประเทศ ในการคัดเลือกลูกกุ้งเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรค EMS การจัดการเลี้ยงกุ้งและการแก้ไขปัญหาในระหว่างการเลี้ยง การจัดการเพื่อลดความเสี่ยงในกรณีที่มีกุ้งตายในบ่อเลี้ยง รวมทั้งการดูและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้เกษตรกรในพื้นที่เลี้ยงกุ้งทั่วประเทศ เช่น จังหวัดตราด จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ตรัง พังงา ภูเก็ต รวมแล้วมีเกษตรกรเข้าร่วมฟังการสัมมนาวิชาการ จำนวนไม่น้อยกว่า 2,500 ราย นายศิริวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับฟาร์มทั้ง 3 แห่ง ที่มาเยี่ยมชมนี้ถือเป็นต้นแบบที่ดีที่จะขยายผลไปยังเกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ โดยสุรีรัตน์ฟาร์ม เป็นฟาร์มที่ประสบปัญหาอาการตายด่วน แต่ขณะนี้มีสัญญาณบวกโดยเกษตรกรเน้นการจัดการบ่อและสภาพแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ให้อาหารในปริมาณที่เหมาะสม รวมทั้งมีการคัดเลือกลูกกุ้งคุณภาพก่อนปล่อยเลี้ยง ขณะที่บุณณวิทย์ฟาร์ม และประเสริฐฟาร์มเป็นฟาร์มที่ไม่เคยพบโรค EMS เกษตรกรปล่อยกุ้งไม่หนาแน่น และมีการคัดกรองคุณภาพลูกกุ้งทุกครั้งก่อนการปล่อยลงเลี้ยง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ