กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 99.98% โดย บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันของธนาคารที่ระดับ “A-” นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังเปลี่ยนแปลงแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารเป็น “Stable” หรือ “คงที่” จาก “Positive” หรือ “บวก” ด้วย โดยสะท้อนถึงสถานะด้านเงินทุนที่อ่อนแอลงจากสัดส่วนภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อันดับเครดิตสะท้อนถึงความสามารถของคณะผู้บริหาร รวมทั้งความสามารถในการดำรงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ และความสามารถในการรักษาระดับกำไรได้อย่างต่อเนื่อง อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการมีระบบบริหารความเสี่ยงที่ดีและการมีสินทรัพย์คุณภาพดี อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากการมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อและเงินรับฝากขนาดเล็ก ตลอดจนเครือข่ายที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมทั้งต้นทุนทางการเงินและสัดส่วนของหนี้สินที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารยังเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและการเงิน โดยปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อธนาคารในระยะยาวทั้งต่อความสามารถในการแข่งขันและการทำกำไร รวมไปถึงความมั่นคงด้านเงินกองทุน
แนวโน้มอันดับเครดิตที่เปลี่ยนแปลงเป็น “Stable” หรือ “คงที่” จาก “Positive” หรือ “บวก” สะท้อนสถานะเงินทุนของธนาคารที่อ่อนแอลงจากระดับหนี้สินที่เพิ่มขึ้น แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนความคาดหวังว่าธนาคารจะยังสามารถดำรงสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์เอาไว้ได้ ตลอดจนรักษาคุณภาพของสินเชื่อที่ดี และมีผลประกอบการที่น่าพอใจ นอกจากนี้ ความท้าทายในเรื่องฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งขึ้น รวมทั้งการรักษาเสถียรภาพของแหล่งเงินทุนไว้ได้ด้วยต้นทุนที่เหมาะสมจะยังคงส่งผลต่ออันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารด้วยเช่นกัน
กลุ่มทิสโก้มีขนาดของสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 9 ในหมู่ธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งสิ้น 15 แห่งในปี 2555 ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อ 2.7% และเงินรับฝาก 2.3% สินเชื่อของธนาคารเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องโดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 24% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2555 มีสินเชื่อทั้งสิ้น 238.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% คณะผู้บริหารช่วยทำให้ธนาคารเติบโตในตลาดกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดีและสามารถรักษาสถานะทางการแข่งขันในธุรกิจเช่าซื้อไว้ได้ ธนาคารเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์รายใหญ่อันดับ 3 จาก 17 แห่งในประเทศไทย ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 12% โดยมีสินเชื่อเช่าซื้อในปี 2555 ทั้งสิ้น 154.6 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตที่ 29% โดยเพิ่มขึ้นตามยอดขายรถยนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยังเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าในภาคการผลิตและการค้า รวมทั้งภาคสาธารณูปโภคและบริการ อย่างไรก็ตาม แม้กลุ่มธุรกิจของลูกค้าจะมีการกระจายตัวมากขึ้น แต่ธนาคารยังมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกหนี้รายใหญ่ โดยปริมาณเงินกองทุนของธนาคารอาจลดลงหากลูกหนี้เหล่านั้นประสบปัญหาด้านการเงิน
คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเนื่องจากมีระบบบริหารความเสี่ยงซึ่งช่วยควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สินทรัพย์ด้อยคุณภาพลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 2.6 พันล้านบาทในปี 2551 เป็น 2.2 พันล้านบาทในปี 2554 อย่างไรก็ตาม สินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นเป็น 2.8 พันล้านบาทในปี 2555 โดยเพิ่มขึ้น 25% ตามการขยายตัวของสินเชื่อและผลกระทบบางส่วนจากอุทกภัยในปลายปี 2554 กระนั้นก็ตาม อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 2.5% ในปี 2551 มาอยู่ที่ 1.2% ในปี 2555 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์ อีกทั้งธนาคารยังสำรองหนี้สงสัยจะสูญไว้อย่างเพียงพอ โดยมีปริมาณสำรองคิดเป็น 169% ของสินเชื่อด้อยคุณภาพในปี 2555
ฐานะทางการเงินของธนาคารยังคงเป็นที่น่าพอใจ โดยมีกำไรสุทธิในปี 2555 จำนวน 2.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จาก 2.6 พันล้านบาทในปี 2554 รายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 55% ในขณะที่รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 1% อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่รุนแรงขึ้น ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยลดลงจาก 4.08% ในปี 2553 เป็น 3.02% ในปี 2554 และ 2.26% ในปี 2555 อันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงินท่ามกลางการแข่งขันในตลาดเงินฝากในระดับสูง นอกจากนี้ ต้นทุนด้านเครดิตในปี 2555 ยังเพิ่มขึ้นถึง 47% จากปีก่อน แม้ว่าธนาคารจะสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานได้เป็นอย่างดี แต่กำไรก่อนภาษีเงินได้กลับลดลง 7% จาก 3.8 พันล้านบาทในปี 2554 เป็น 3.5 พันล้านบาทในปี 2555 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยและผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยในปี 2555 เท่ากับ 1.13% และ 19.01% ตามลำดับ ลดลงจาก 1.41% และ 20.22% ในปี 2554 ทั้งนี้ ธนาคารอาจขยายสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นจากการเปิดรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น เพื่อที่จะรักษาระดับความสามารถในการทำกำไรเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าธนาคารจะสามารถควบคุมต้นทุนทางการเงินไว้ได้ในระยะกลาง
ในด้านแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องนั้น ธนาคารมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในระดับหนึ่ง โดยยังคงใช้แหล่งเงินทุนจากกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเกิดความผันผวนได้ง่ายกว่าเงินทุนจากลูกค้ารายย่อย แหล่งเงินทุนส่วนใหญ่ของธนาคารมาจากผู้ฝากเงินและผู้ให้กู้ยืมรายใหญ่ (เงินฝากหรือตั๋วแลกเงินที่มากกว่า 10 ล้านบาท) โดยในปี 2555 คิดเป็นสัดส่วน 84% ของฐานเงินฝากรวมตั๋วแลกเงิน เพิ่มขึ้นจาก 73% ในปี 2554 ทั้งนี้ สภาพคล่องของธนาคารอาจอ่อนแอลงหากกลุ่มลูกค้ารายใหญ่เบิกถอนเงินพร้อมกันในคราวเดียว
ระดับหนี้สินของธนาคารเพิ่มขึ้น โดยอัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 9.3% ในปี 2551 ลดลงเหลือ 5.5% ในปี 2555 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในระบบ อันเป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อในเชิงรุกและการจ่ายเงินปันผลจำนวนมาก ทั้งนี้ ธนาคารมีแผนการเพิ่มทุนตามโครงการออกใบแสดงสิทธิเพื่อการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่สามารถเปลี่ยนมือได้ (TSR) ของบริษัทแม่ซึ่งจะดำเนินการในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าสถานะด้านเงินทุนหลังการเพิ่มทุนจะยังไม่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สัดส่วนเงินกองทุนอาจจะลดลงได้ต่อไปหากสินเชื่อยังคงเติบโตอย่างมากในระยะกลาง ธนาคารคำนวณเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงด้านเครดิตด้วยวิธี Internal Rating Based Approach (IRB)ภายใต้เกณฑ์ Basel II ซึ่งช่วยให้ระบบบริหารความเสี่ยงและบริหารจัดการเงินกองทุนมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ในปี 2555 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับ 8.51% และ 12.79% ตามลำดับ ลดลงจาก 9.88% และ 14.91% ในปี 2554 แต่ยังคงสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 4.25% และ 8.50%
ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) (TISCOB)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TISCO192A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A-
TISCO195A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A-
TISCO205A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A-
TISCO20DA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A-
TISCO223A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
TISCO22DA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 1,243 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable