กรุงเทพ--25 มี.ค.--กรมวิทยาศาสตร์
กรมวิทยาศาตร์การแพทย์ ร่วมกับ JICA จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "การวิเคราะห์ยาปฏิชีวนะตกค้างในอาหารโดยวิธีทางจุลชีววิทยา" (Microbiological analysis for antibiotic residues in food) ในระหว่างวันที่ 24 - 27 มีนาคม 2541 ณ โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส กทม. เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการตรวจวิเคราะห์ยาปฏิชีวนะตกค้างในอาหารได้อย่างรวดเร็วถูกต้องแม่นยำ สามารถเฝ้าระวังและคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.เรณู โกยสุโข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์สำหรับบริโภค ได้แก่ โค สุกร ไก่ และสัตว์น้ำต่าง ๆ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะและสารต้านจุลชีพ เพื่อการควบคุมป้องกัน และรักษาโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับสัตว์ที่เลี้ยง ซึ่งการใช้ยาดังกล่าวนอกจากจะมีการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังอาจเกิดการตกค้างในอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์ เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ และสัตว์น้ำ และนำมาซึ่งอันตรายต่อผู้บริโภคได้ คือ เกิดการแพ้ยา และการดื้อยาของเชื้อโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ เพื่อควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารทั้งที่จำหน่ายภายในประเทศและเพื่อการส่งออก ตระหนักถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมในการดำเนินการเฝ้าระวังและคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค การตรวจวิเคราะห์สารตกค้างจากยาปฏิชีวนะและยาต้านจุลชีพสามารถกระทำได้หลายวิธี ซึ่งวิธีการตรวจทางจุลชีววิทยาเป็นวิธีหนึ่งที่มีความสะดวก รวดเร็วไม่ยุ่งยากซับซ้อน แม่นยำ และสามารถทราบผลได้ ภายใน 1 วัน ฉะนั้น กรมจึงจัดให้มีการอบรมเพื่อถ่ายทอดเทคนิคการตรวจวิเคราะห์ให้แก่เจ้าหน้าที่ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค โดยได้รับความร่วมมือและสนับสนุนด้านงบประมาณจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น หรือ JICA (Japan International Cooperation Agency) ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับความรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและฝึกปฏิบัติการวิเคราะห์ในห้องปฎิบัติการ
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อไปว่า ในขณะนี้ กองอาหาร สามารถพัฒนาชุดทดสอบยาปฏิชีวนะในนมได้สำเร็จ ซึ่งการทดสอบเบื้องต้นสามารถให้ผลการตรวจได้ภายใน 3 ชั่วโมง และชุดทดสอบนี้จะสามารถใช้ตรวจหายาปฏิชีวนะได้ทั้งในน้ำนมดิบและน้ำนมที่ผ่านกระบวนการผลิตแล้วประโยชน์ของชุดทดสอบ นอกจากจะช่วยให้การดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นแล้ว ยังเกิดผลดีในด้านเศรษฐกิจ คือสามารถลดค่าใช้จ่ายที่ต้องสั่งซื้อชุดทดสอบจากต่างประเทศที่มีราคาแพง นอกจากนี้เกษตรกรฯ และโรงงานผลิตยังสามารถนำไปใช้ในการควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี ผู้สนใจสามารถติดต่อขอรายละเอียดได้ที่ กองอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถนนบำรุงเมือง ยศเส กทม. โทร. 6215500 ต่อ 289--จบ--