กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--กรมควบคุมโรค
จากกรณีข่าวที่พบว่ามีการระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตจำนวนหลายราย ข่าวนี้อาจสร้างความตื่นตระหนกและความหวาดกลัวให้กับประชาชนคนไทยเป็นจำนวนมาก สธ. เตือนแม้ยังไม่พบการระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ในประเทศไทย แต่ประชาชนต้องไม่ประมาทในการป้องกันตัวเอง
ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แม้ว่าจะยังไม่เคยพบเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ในประเทศไทยก็ตาม แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของไข้หวัดนก สายพันธุ์ H7N9 ไว้อย่างเข้มงวด เน้นเพิ่มความเข้มข้นจากมาตรการเดิมที่มีอยู่ โดย นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด เพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังทั้งในคนและสัตว์ปีกให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุม และให้ทำหน้าที่ประสานงานตามข้อสั่งการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวังและตรวจจับการระบาดของโรค เน้นให้แพทย์ซักประวัติและเก็บตัวอย่างในกลุ่มผู้ป่วย 4 กลุ่ม ที่มีอาการปอดบวมรุนแรงที่มารักษาในโรงพยาบาลเพื่อส่งตรวจ ได้แก่ 1.ผู้ติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรงไม่ทราบสาเหตุ 2.ผู้ป่วยปอดบวมที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ 3.บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นปอดบวม และ 4.ผู้ป่วยปอดบวมที่พบเป็นกลุ่มตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปในชุมชน พร้อมทั้งแจ้งให้ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงสอบสวนควบคุมโรคในพื้นที่ เก็บตัวอย่างมาตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ และให้องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เตรียมคลังยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ทั้งชนิดกินและชนิดฉีด อุปกรณ์ป้องกันโรคให้เพียงพอ เตรียมความพร้อมด้านการพัฒนาวัคซีน H7N9 ของไทย และให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน เตรียมห้องแยกสำหรับดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อไว้เป็นการเฉพาะ
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่ออีกว่า ผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ส่วนใหญ่จะมีอาการรุนแรงเช่นภาวะการหายใจล้มเหลวและเสียชีวิต และถึงแม้ขณะนี้จะยังไม่พบการระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์นี้ในประเทศไทย แต่ประชาชนต้องไม่ประมาทและควรตระหนักในการป้องกันตัวเอง ซึ่งผู้เลี้ยงหรือผู้สัมผัสสัตว์ปีกสามารถป้องกันตนเองได้โดย 1.ใส่หน้ากากอนามัย ถุงมือ หมวก รองเท้าบู๊ต เมื่อเข้าปฏิบัติงาน 2. ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งเมื่อเข้าและออกพื้นที่ปฏิบัติงาน 3.เมื่อมีสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ต้องรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทราบทันที 4. ต้องใส่หน้ากากอนามัย ถุงมือ หมวก รองเท้าบู๊ต เมื่อกำจัดสัตว์ปีกที่ป่วย/ตาย 5.ห้ามนำสัตว์ปีกที่ป่วย/ตาย มาปรุงเป็นอาหาร 6.ให้สังเกตอาการไข้และอาการระบบทางเดินหายใจ อาการท้องเสีย หากมีอาการดังกล่าวภายใน 10 วันหลังจากสัมผัสสัตว์ปีกป่วย/ตายครั้งสุดท้าย ต้องรีบมาพบแพทย์เพื่อให้การรักษาและส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการแบบผู้ป่วยไข้หวัดนกต่อไป 7.ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเพื่อป้องกันการผสมข้ามสายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดนก และเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลจนกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่
ส่วนผู้ที่เดินทางไปยังต่างประเทศที่มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไข้หวัดนกให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยปวดบวม รวมทั้ง สัตว์ปีก และนกธรรมชาติด้วย หากมีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และเคยสัมผัสสัตว์ปีก หรือผู้ป่วยปอดบวม ให้รีบไปพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติสัมผัสโรค หรือแจ้งประวัติการเดินทาง
“สำหรับประชาชนทั่วไป ควร 1.รับประทานเนื้อไก่และไข่ที่ปรุงสุก 2.หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีอาการป่วยหรือตาย โดยเฉพาะเด็ก 3.ห้ามนำซากสัตว์ปีกที่ป่วยตายไปรับประทานหรือให้สัตว์อื่นกิน ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 4.ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ หากมีอาการเป็นไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที บอกประวัติการสัมผัสพร้อมอาการ ถ้าประชาชนมีข้อสงสัย สามารถติดต่อได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค หมายเลข 1422” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวปิดท้าย
ติดต่อ:
สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค
โทรศัพท์: 0-2590-3862 / โทรสาร: 0-2590-3386