กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--สำนักงาน กสทช.
พ.อ. ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (ประธาน กทค.) กล่าวว่า วันนี้ (1 พฤษภาคม 2556) ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 16 /2556 มีมติเห็นชอบแนวทางการตรวจสอบและกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขใบอนุญาต ดังนี้
1.แนวทางการกำกับดูแลค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz
1.1 ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ที่ได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2555 นำรายการส่งเสริมการขายที่ปรากฏในตลาดในปัจจุบัน ไปใช้ในการให้บริการบนโครงข่ายย่าน 2.1 GHz นั้น ผู้ให้บริการจะต้องปรับลดอัตราค่าบริการลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ในแต่ละรายการส่งเสริมการขายดังกล่าว ทั้งนี้ จนกว่า กทค. จะกำหนดเป็นอย่างอื่น
1.2 สำหรับรายการส่งเสริมการขายใหม่ของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ที่ได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2555 จะต้องกำหนดรายการส่งเสริมการขายให้เป็นไปตามเงื่อนไขในการอนุญาต กล่าวคือ ต้องกำหนดอัตราค่าบริการที่ลดลงโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการประเภทเสียง (voice) และบริการที่ไม่ใช่ประเภทเสียง (non-voice) ที่มีการให้บริการอยู่ในตลาด ณ วันที่ได้รับใบอนุญาต ทั้งนี้ จนกว่า กทค. จะกำหนดเป็นอย่างอื่น
2. สำนักงาน กสทช. จะใช้อัตราค่าบริการเฉลี่ยของโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่คำนวณได้ ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2555 ของทุกรายการส่งเสริมการขายในตลาด มาคำนวณเป็นอัตราอ้างอิงเพื่อใช้ในการกำกับค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนความถี่ย่าน 2.1 GHz เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม สมเหตุสมผล และไม่เอาเปรียบผู้บริโภค
3. เร่งรัดให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการตามกระบวนการเพื่อกำหนดอัตราขั้นสูงของค่าบริการให้ครอบคลุมบริการประเภทเสียงและบริการที่ไม่ใช่ประเภทเสียง
พ.อ. ดร. เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ตามเงื่อนไขในการอนุญาตการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G บนย่านความถี่ 2.1 GHz หรือ 3G ใหม่ ของ กทค. นั้นกำหนดให้ “ผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดอัตราค่าบริการให้เป็นธรรม สมเหตุสมผลและไม่เอาเปรียบผู้บริโภค โดยในการเปิดให้บริการผู้รับใบอนุญาตจะต้องกำหนดอัตราค่าบริการที่ลดลงโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการประเภทเสียง (voice) และบริการที่ไม่ใช่ประเภทเสียง (non-voice) ที่มีการให้บริการอยู่ในตลาด ณ วันที่ได้รับใบอนุญาต ทั้งนี้ จนกว่าคณะกรรมการจะกำหนดเป็นอย่างอื่น”