กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
รมว.กษ. ประชุมชี้แจงการดำเนินนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ(โซนนิ่ง) ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดระดับจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมเน้นย้ำให้ประสานเชื่อมโยงข้อมูลการเกษตรร่วมกัน หวังสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในระดับจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินนโยบายการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Zoning) ว่า ได้มีการชี้แจงถึงแนวทางการดำเนินนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ในการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ หรือโซนนิ่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เนื่องจากการจัดพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรนั้น ถือเป็นความสำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้ประกาศพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืช ปศุสัตว์ และประมง เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าเกษตรที่เหมาะสมกับคุณภาพดิน น้ำ อากาศ อุณหภูมิ เรื่องแสงและปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่ โดยได้ประกาศพื้นที่ที่เหมาะสม สำหรับการปลูกพืชแล้ว 8 ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สับปะรดโรงงาน และลำไย ส่วนด้านปศุสัตว์ได้ประกาศแล้ว 5 ชนิด คือ โคเนื้อ โคนม ไก่เนื้อ ไก่ไข่ และสุกร ส่วนด้านประมงอีก 3 ชนิดจะเร่งประกาศต่อไป
ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ คือการจัดพื้นที่ให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ทางธรรมชาติ ทั้งด้านการประมง พืช ปศุสัตว์ โดยควรคำนึงใน 4 ด้าน คือ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต 2.การเตรียมความพร้อมของพื้นที่ โดยแบ่งการผลิตและการตลาดให้เกิดความสมดุล 3.การสนับสนุนในเรื่องปัจจัยการผลิต ทั้งเรื่องของน้ำ และดิน 4.การเพิ่มมูลค่าด้วยการจัดการระบบการจัดส่งสินค้า(Liogistics) สำหรับในส่วนของกระบวนการ ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดของแต่ละจังหวัดส่งข้อมูลพื้นฐานแผนพัฒนาเกษตรของพื้นที่มายังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 โดยหลักเกณฑ์ในการกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตโซนนิ่งนั้น จะต้องมีความพร้อมด้านการตลาดในการรองรับผลผลิต มีเป้าหมายในการผลิตที่ชัดเจน และสามารถจำหน่ายในราคาที่เกษตรกรสามารถเลี้ยงชีพได้ อย่างไรก็ตาม หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ในระดับจังหวัดจะต้องประสานงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนราชการ ภาคเอกชน ผู้ประกอบธุรกิจในพื้นที่ เพื่อให้การพัฒนาเขตเกษตรเศรษฐกิจมีการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร แต่หากพบว่ามีพื้นที่ใดที่ไม่ได้ประกาศให้เป็นเขตโซนนิ่ง แต่มีความเหมาะสมในการเป็นเขตโซนนิ่งก็สามารถแจ้งเข้ามาที่ส่วนกลาง เพื่อให้กรมพัฒนาที่ดิน กรมประมง และกรมปศุสัตว์ ได้เข้าไปตรวจสอบความเหมาะสมของพื้นที่นั้นได้
“การดำเนินนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ในการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ ได้ให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงข้อมูลการเกษตรและบูรณาการการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วน ซึ่งหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดสามารถเสนอแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่โซนนิ่งในจังหวัดนั้นได้ โดยพิจารณาถึงศักยภาพ และความพร้อมในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการ การคมนาคมขนส่ง โดยต้องมีความชัดเจนในการดำเนินงานและคำนึงถึงการตลาดที่จะรองรับผลผลิตเป็นสำคัญ รวมทั้งมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้การพัฒนาประเทศในการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจมีความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าว