กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 800 ล้านบาทของ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” ในขณะเดียวกันยังคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระคืนหุ้นกู้ที่ใกล้ครบกำหนดไถ่ถอน อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำในธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย ตลอดจนการมีโรงภาพยนตร์ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่ดี และคณะผู้บริหารที่มีความสามารถ จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาทิ ปริมาณของภาพยนตร์ที่เข้าฉาย ความเป็นที่นิยมของภาพยนตร์ ตลอดจนระยะเวลาการฉายในโรงที่สั้นลงก่อนที่จะผลิตเป็นวิดีโอซีดี/ดีวีดี การแข่งขันจากกิจกรรมสันทนาการอื่น ๆ และการแพร่ระบาดของวิดีโอซีดี/ดีวีดีละเมิดลิขสิทธิ์ ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะผู้นำตลาดในธุรกิจโรงภาพยนตร์และรักษาผลประกอบการให้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจเอาไว้ได้ โดยที่การลงทุนในอนาคตหรือการจ่ายเงินปันผลควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบและจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินและสภาพคล่องของบริษัทอย่างรุนแรงด้วย
บริษัทเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป เป็นผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 80% โดยพิจารณาจากรายได้รวมของภาพยนตร์ที่เข้าฉายในสัปดาห์แรก บริษัทก่อตั้งในปี 2537 โดยนายวิชา พูลวรลักษณ์ ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นในสัดส่วน 36% บริษัทดำเนินธุรกิจหลัก 5 ประเภท ได้แก่ โรงภาพยนตร์ โบว์ลิ่งและคาราโอเกะ สื่อและโฆษณา การให้เช่าพื้นที่และบริการ รวมถึงการจัดจำหน่ายวิดีโอซีดี/ดีวีดีและลิขสิทธิ์ภาพยนตร์
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 บริษัทดำเนินกิจการโรงภาพยนตร์ 59 แห่ง ด้วยจำนวนจอภาพยนตร์ทั้งสิ้น 426 จอและที่นั่งมากกว่า 100,000 ที่นั่ง โดย ณ ปัจจุบันมีโรงภาพยนตร์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 32 แห่งและในต่างจังหวัด 27 แห่ง บริษัทมีสาขาโบว์ลิ่งและคาราโอเกะจำนวน 23 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยโบว์ลิ่ง 412 รางและห้องคาราโอเกะ 274 ห้อง นอกจากนี้ บริษัทยังบริหารจัดการพื้นที่ให้เช่าขนาด 51,552 ตารางเมตร (ตร.ม.) ด้วย สำหรับในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงนั้น บริษัทขยายโรงภาพยนตร์ไปยังแหล่งศูนย์กลางธุรกิจและชุมชนสำคัญหลายแห่งโดยใช้ตราสัญลักษณ์หลากหลายเพื่อดึงดูดลูกค้าหลาย ๆ กลุ่ม
ผลประกอบการของบริษัทได้รับแรงหนุนบางส่วนจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวแทนผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ โดยรายได้จากการเข้าชมภาพยนตร์ขึ้นอยู่กับจำนวนภาพยนตร์ที่เข้าฉาย รวมถึงคุณภาพและความเป็นที่นิยมของภาพยนตร์ด้วย โดยการชมภาพยนตร์ในโรงเป็นความบันเทิงในรูปแบบที่มีราคาไม่แพงและสามารถเข้าถึงได้ง่ายโดยเฉพาะเมื่อมีโรงภาพยนตร์ครอบคลุมทั่วประเทศ ปัจจัยที่เป็นผลกระทบด้านลบต่อธุรกิจโรงภาพยนตร์คือการแพร่ระบาดของวิดีโอซีดี/ดีวีดีละเมิดลิขสิทธิ์และระยะเวลาการฉายในโรงที่สั้นลงก่อนที่จะผลิตเป็นวิดีโอซีดี/ดีวีดีซึ่งอาจลดทอนความต้องการชมภาพยนตร์นอกบ้าน อย่างไรก็ตาม การออกไปชมภาพยนตร์ในโรงยังคงเป็นวิถีชีวิตที่มีเสน่ห์และยังไม่มีกิจกรรมสันทนาการใดที่สามารถทดแทนประสบการณ์จากการชมภาพยนตร์ในโรงได้อย่างสมบูรณ์
แม้ว่าจำนวนภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมจะต่ำกว่าในปี 2554 กระนั้นบริษัทก็ยังมีรายได้รวมถึง 6,965 ล้านบาทในปี 2555 เพิ่มขึ้น 3% จากปีที่ผ่านมา การเติบโตที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากรายได้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องจากธุรกิจโฆษณาและธุรกิจจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในโรงภาพยนตร์ บริษัทมีรายได้จากธุรกิจภาพยนตร์ คิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมดและกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ส่วนธุรกิจอื่น ๆ ของบริษัทนั้นนับว่ามีความอ่อนไหวตามภาวะเศรษฐกิจมากกว่า เช่น ธุรกิจโฆษณา อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโฆษณาสามารถสร้างกระแสเงินสดให้แก่บริษัทอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายต่ำ บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายอยู่ที่ระดับ 29% ในปี 2553-2554 แต่ลดลงสู่ระดับ 24.9% ในปี 2555 เนื่องจากผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลงในธุรกิจการจัดจำหน่ายวิดีโอซีดี/ดีวีดีและลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ตลอดจนการให้เช่าพื้นที่และบริการ ในปี 2555 บริษัทได้ให้ส่วนลดค่าเช่าสำหรับผู้เช่าบางรายที่ได้ผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมด้วย
หนี้สินรวมของบริษัทปรับตัวลดลงจาก 2,987 ล้านบาท ในปี 2554 สู่ระดับ 2,852 ล้านบาทในปี 2555 เนื่องจากมีการจ่ายคืนหนี้เงินกู้ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทลดลงจาก 54.7% ในปี 2554 สู่ระดับ 49.7% ในปี 2555 โดยที่ระดับเงินกู้รวมของบริษัทคาดว่าจะไม่ลดลงในระยะปานกลาง ซึ่งในปี 2556 บริษัทมีแผนการขยายจำนวนจอภาพยนตร์อีกไม่น้อยกว่า 100 จอซึ่งมากกว่าในปี 2552-2554 ที่ระดับ 30-40 จอต่อปี โดยจะจัดสรรงบลงทุนประมาณ 1,300 ล้านบาทในปี 2556 สภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แม้ว่าเงินทุนจากการดำเนินงานปรับตัวลดลงจากระดับ 1,558 ล้านบาทในปี 2554 เป็น 1,347 ล้านบาทในปี 2555 ส่วนอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมปรับตัวดีขึ้นจาก 19.6% ในปี 2553 เป็นประมาณ 25% ในช่วงปี 2554-2555 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ระดับประมาณ 4 เท่าในปี 2553-2555
บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) (MAJOR)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
MAJOR178A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A-
หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 800 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2559 A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable