กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผนึกกำลัง สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จัดสัมมนาประชาสัมพันธ์โครงการ “การจัดทำแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) เพื่อ Green Supply Chain ของอุตสากรรมเป้าหมายเพื่อการส่งออก” เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา ณ ห้องกษัตริย์ศึก 3 ชั้น 4 โรงแรม เดอะทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ ดึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาบรรยายในหลากหลายหัวข้อ ตั้งเป้าลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินกิจกรรมของภาคอุตสาหกรรมตลอดโซ่อุปทาน
นายเสน่ห์ นิยมไทย อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า จากสภาวะการแข่งขันในตลาดโลกที่สูงขึ้น ส่งผลให้ข้อเรียกร้องด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถูกนำมาเป็นเงื่อนไขทางการค้า ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องปรับตัวและให้ความสำคัญต่อสาระและความเข้มงวดของประเด็นข้อกำหนดต่างๆ ของประเทศคู่ค้า เพื่อรักษาตลาดและความสามารถในการแข่งขัน โดยการปรับปรุงพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
สำหรับอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง อุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลัง และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของโครงการ “การจัดทำแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) เพื่อ Green Supply Chain ของอุตสากรรมเป้าหมายเพื่อการส่งออก” ในปี 2556 นั้น ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายตัวโดยคาดการณ์ว่า การส่งออกมันสำปะหลังของไทยในปีนี้ มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 14.0 — 18.0 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,200 — 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ความต้องการมันสำปะหลังเพื่อการผลิตพลังงาน และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น ไบโอพลาสติก และกรดแล็กติก ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยประเทศไทยเองมีเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังมากกว่า 2.6 ล้านคน มีการจ้างงานในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกกว่า 1 ล้านคน ซึ่งนับได้ว่าอุตสาหกรรมมันสำปะหลังมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นอย่างมาก
“แม้ว่าภาพรวมการส่งออกมันสำปะหลังของไทยจะมีแนวโน้มขยายตัว แต่อุตสาหกรรมมันสำปะหลังยังเผชิญการแข่งขันทางการตลาดที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ถูกนำมาเป็นเงื่อนไขทางการค้าที่ประเทศคู่ค้าต้องยอมรับและปฏิบัติตาม โครงการ “การจัดทำแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) เพื่อ Green Supply Chain ของอุตสากรรมเป้าหมายเพื่อการส่งออก” นี้ จึงถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมได้พัฒนาองค์ความรู้ในการปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ตลอดโซ่อุปทานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยกระบวนการและเครื่องมือด้านสิ่งแวดล้อมที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อบ่งชี้ข้อบกพร่องในแต่ละกิจกรรมโลจิสติกส์ตลอดโซ่อุปทานได้ อีกทั้งเพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ทำให้เกิดการสูญเสียและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนผู้ประกอยการจะได้มีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพรินท์ซึ่งเป็นหลักฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งเป็นการแสดงภาพลักษณ์และเจตนารมณ์ที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันในตลาดการค้าโลกอีกทางหนึ่งด้วย” นายเสน่ห์ กล่าว
ด้าน นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ โดยสำนักโลจิสติกส์ได้ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดทำโครงการจัดทำแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ เพื่อ Green Supply Chain ของอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อการส่งออก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำและเผยแพร่แนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากรภาคอุตสาหกรรมด้านการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมตลอดโซ่อุปทาน รวมถึงเพื่อให้ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพรินท์ ซึ่งเป็นหลักฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล อีกทั้งยังสามารถวิเคราะห์คำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ได้ด้วยตนเองอีกด้วย ทั้งนี้ โครงการ “การจัดทำแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) เพื่อ Green Supply Chain ของอุตสากรรมเป้าหมายเพื่อการส่งออก” ได้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 2 แล้ว โดยเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา มีอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นอุตสาหกรรมยางพาราและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งได้ดำเนินการบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยมีผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมดังกล่าวได้รับการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพรินท์จำนวน 9 ผลิตภัณฑ์ จากสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 9 ราย
“สำหรับในปี 2556 นี้ ทางโครงการฯ ได้คัดเลือกอุตสาหกรรมมันสำปะหลังและอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากประเทศไทยผลิตมันสำปะหลังมากเป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกแป้งมันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดของโลก อุตสาหกรรมมันสำปะหลังและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจึงถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสำหรับการดำเนินงานโครงการฯ จะจัดให้มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และวิธีการประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ ให้แก่บุคลากรของสถานประกอบการอุตสาหกรรม จำนวนไม่น้อยกว่า 100 ราย พร้อมทั้งให้คำปรึกษาเชิงลึกในการปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และดำเนินการยื่นขอการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์แก่สถานประกอบการอุตสาหกรรมมันสำปะหลังและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีการส่งออก จำนวนไม่น้อยกว่า 10 ราย โดยผลจากการศึกษาและดำเนินโครงการฯ จะนำมาจัดทำแนวทางการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ด้านการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเผยแพร่และขยายผลสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่โลจิสติกส์สีเขียวในตลาดการค้าโลกต่อไป” ผู้อำนวยการสำนักโลจิสติกส์ กพร. กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ / สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย /โทรศัพท์ 0-2345-1013, 1017