กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--กรมป่าไม้
กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดแนวทางการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ให้หน่วยป้องกันรักษานำไปปฏิบัติ เพื่อสร้างพลังแห่งความร่วมมือ ร่วมใจ และจิตสำนึกรักษ์ป่าด้วย “ความเต็มใจและสมัครใจ”
นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ กล่าวว่า ปัญหาการบุกรุกทำลายป่า ยังคงเป็นปัญหาระดับชาติที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยให้ความสนใจและพยายามแก้ไข แต่การดำเนินงานมักจะเป็นหน่วยงานภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว จึงทำให้การแก้ไขปัญหาไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จได้อย่างยั่งยืน การใช้วิธีการปราบปราม จับกุมผู้กระทำความผิดแต่เพียงอย่างเดียว เป็นการชะลออัตราการสูญเสียทรัพยากรป่าไม้เท่านั้น แต่ไม่สามารถยับยั้งขบวนการตัดไม้ทำลายป่าและการบุกรุกป่าได้ แต่การบังคับใช้กฎหมายยังคงจำเป็นสำหรับประเทศไทย แต่การแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพต้องเข้าใจเข้าใจถึงแก่นแท้ของปัญหาการบุกรุกป่าของประชาชน ซึ่งมีสาเหตุมาจากความยากจนและความไม่รู้ ดังนั้น การให้ความสำคัญต่อบทบาทการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และการเข้าถึงประชาชนในพื้นที่เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้อง รวมทั้งสร้างความรู้ ความเข้าใจ และปลูกจิตสำนึกจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะท้ายที่สุดแล้ว พลังแห่งความร่วมมือ ร่วมใจ และจิตสำนึกรักษ์ป่าด้วย “ความเต็มใจและสมัครใจ” ของประชาชนในท้องที่จะเป็น “เกราะป้องกัน” การบุกรุกทำลายป่าได้ดีกว่ากฎหรือข้อบังคับใดๆ
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการปราบปรามการกระทำผิดโดยกลยุทธ์การมีส่วนร่วม ด้วยการพัฒนาบุคคลกรและอาสาสมัครเพื่อการป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเกิดประสิทธิผลและยั่งยืน กรมป่าไม้จึงได้มีคำสั่งที่ 1154/2556 แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแนวทาง การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ของหน่วยป้องกันรักษาป่า โดยมีนางอำนวยพร ชลดำรงค์กุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจัดการและควบคุมป่าไม้ เป็นประธานคณะทำงาน และผู้อำนวยการส่วนในสังกัดสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่าเป็นกรรมการ
นางอำนวยพร ชลดำรงค์กุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจัดการและควบคุมป่าไม้ กรมป่าไม้ กล่าวว่า มิติใหม่ในการป้องกันยับยั้งการทำลายป่าของหน่วยป้องกันรักษาป่า มุ่งเน้นให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณป่าหรือใกล้ป่าเป็นผู้มีส่วนร่วมในการดูแลป้องกันรักษาป่า ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานและสร้างแนวร่วมในการป้องกันรักษาป่า และควบคุมไฟป่า โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ร่วมคิด ร่วมกันหาข้อมูล ร่วมกันวางแผน ร่วมกันติดตามผล ร่วมกันบำรุงรักษา และร่วมกันรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งให้ความสำคัญต่อบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน รวมถึงภาคส่วนต่างๆ ของสังคมด้วย
ในปี 2556 กรมป่าไม้มีโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า โดยเจ้าหน้าที่ส่วนควบคุมไฟป่า ได้ไปสำรวจและคัดเลือกหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า เข้ามาเป็นเครือข่ายในการป้องกันไฟป่า โดยเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกับชาวบ้านศึกษาถึงสาเหตุของการเกิดไฟป่าในพื้นที่ รวมทั้งให้ความรู้ ความเข้าใจถึงอันตรายและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากไฟป่า แล้วนำมาใช้ในการวางแผนป้องกันที่ต้นเหตุ เพื่อไม่ให้เกิดไฟป่า หรือถ้าเกิดไฟป่าก็สามารถวางแผนในการดับไฟได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ กรมป่าไม้จะมอบเงินอุดหนุนให้กับหมู่บ้านที่เป็นเครือข่ายในการควบคุมไฟป่า จำนวน 100 หมู่บ้านๆ ละ 100,000 บาท รวมทั้งสิ้น 10 ล้านบาท ซึ่งจากการติดตามการดำเนินการป้องกันไฟป่าด้วยความสมัครใจและจิตอาสาของชาวบ้าน ตัวอย่างเช่น ที่บ้านต้นต้อง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง พบว่าชาวบ้านได้นำเงินที่ได้รับ 100,000 บาท ไปแบ่งปันให้กับหมู่บ้านข้างเคียงอีก 6 หมู่บ้าน ซึ่งถือได้ว่าบ้านต้นต้องเป็นตัวอย่างของชุมชนที่ดีที่มีจิตอาสาในการป้องกันไฟป่า และสร้างเครือข่ายในป้องกันไฟให้กับชุมชนใกล้เคียง และท้ายที่สุด คือ การช่วยดูแลป้องกันไฟป่าให้กับคนในเมืองลำปางให้ปลอดจากควันพิษจากไฟป่า จึงนับได้ว่า เครือข่ายไฟป่าที่กรมป่าไม้จัดขึ้นนั้นประสบความสำเร็จได้อย่างดียิ่ง ซึ่งถ้าทั้ง 100 ชุมชนที่ได้รับเงินอุดหนุนจากกรมป่าไม้ ช่วยกันเป็นหูเป็นตา และร่วมแรงร่วมใจในการป้องกันไฟป่าทั่วทั้งประเทศแล้ว ปัญหาไฟป่าก็จะลดน้อยลงหรือหมดไป ทรัพยากรป่าไม้ก็จะยังคงอยู่อย่างยั่งยืน และคุณภาพชีวิตของประชาชนก็จะดีขึ้นด้วยเช่นกัน
เพื่อให้การดำเนินงานควบคุมไฟป่ามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กรมป่าไม้ได้จัดฝึกอบรมอาสาสมัครขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และอบรมหลักสูตรการสร้างเครือข่ายในการควบคุมไฟป่าให้กับเจ้าหน้าที่หน่วยส่งเสริมการควบคุมไฟป่า รวมทั้งจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การประสานงานความร่วมมือระหว่างองค์กรเพื่อจัดทำเครือข่ายอย่างยั่งยืน ในแต่ละภาคเพื่อให้การปฏิบัติงานเครือข่ายป้องกัน ไฟป่าไปในทิศทางเดียวกัน
อีกหนึ่งโครงการที่สำคัญยิ่ง คือ โครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า หรือ รสทป. ซึ่งเป็นโครงการตามแนวพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่มีพระราชประสงค์ให้เปลี่ยนทัศนคติของราษฎรจากผู้บุกรุกเป็นผู้ดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืนได้ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่า
กรมป่าไม้ได้น้อมนำแนวพระราชดำรัสมาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน โดยในปีงบประมาณ 2556 ได้จัดอบรมเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในส่วนภูมิภาค รวม 4 ภาค เพื่อให้สามารถทำหน้าที่เป็นวิทยากรในการจัดการอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า เมื่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตร วิทยากรราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า จำนวน 329 คน จะทำหน้าที่เป็นครูฝึกอบรมราษฎรที่อยู่ในพื้นที่ที่รับผิดชอบให้เป็นราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่าต่ออีก จำนวน 13 รุ่นๆ ละ 100 คน รวมจะได้ประชาชนที่มาเป็น รสทป. รวม 1,300 คน นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ กรมป่าไม้จะได้จัดการอบรมการสร้างเครือข่ายและพันธมิตรในการป้องกันรักษาป่า จำนวน 1 รุ่น ในเดือนมิถุนายนนี้
“ปัญหาป่าไม้ เป็นปัญหาระดับชาติที่ทุกคนจะต้องร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะผลเสียจากการตัดไม้ทำลายป่าที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อทุกคนในสังคม “พันธกิจของผู้พิทักษ์” จึงมิใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หากแต่ถึงเวลาแล้วที่พวกเราทุกคน ทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน จะต้องร่วมมือ ร่วมใจ ผนึกกำลังกัน เพื่อต่อสู้ปัญหาไปด้วยกันอย่างจริงจัง” นางอำนวยพร กล่าว