กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--ธนาคารกสิกรไทย
ธนาคารกสิกรไทย เปิดพอร์ตสินเชื่อรายย่อยไตรมาสแรกยังคงเติบโตตามเป้าหมาย โดยสินเชื่อบ้านกสิกรไทยมียอดปล่อยกู้ใหม่ใน 3 เดือนแรกประมาณ 9,100 ล้านบาท ในขณะที่สินเชื่อบุคคลมียอดปล่อยวงเงินสินเชื่อใหม่อีก 3,000 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินสินเชื่อบุคคลใหม่กว่า 12,100 ล้านบาท
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจัยที่สะท้อนคุณภาพพอร์ตสินเชื่อรายย่อยของธนาคารกสิกรไทย คือ ธนาคารมีกลุ่มสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำ คือ สินเชื่อที่อยู่อาศัย อยู่ในพอร์ตเป็นสัดส่วนสูงถึง 65% ซึ่งสูงกว่าภาพรวมของตลาดที่มีสัดส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ 63% นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อรายย่อย ยังอยู่ที่ระดับ 1.4% ต่ำกว่าตลาดซึ่งมี NPL อยู่ที่ 2.1%
ด้านแนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปี 2556 ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และคาดการณ์ว่าตลาดรวมสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2556 จะอยู่ที่ประมาณ 2.45 ล้านล้านบาท เติบโตจากปี 2555 ประมาณ 8.50% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2555 ซึ่งตลาดสินเชื่อบ้านมีมูลค่า 2.26 ล้านล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 11% ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยมีอัตราการเติบโตใกล้เคียงกับตลาด สอดคล้องกับการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีศักยภาพอยู่ โดยเฉพาะตลาดในเขตหัวเมืองในภูมิภาคต่าง ๆ
สำหรับสัญญาณการเกิดฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารได้มีการประเมินสถานการณ์อยู่ตลอด พบว่า โดยภาพรวมยังไม่มีสัญญาณการเกิดฟองสบู่ที่ชัดเจนที่จะส่งผลต่อตลาดโดยรวม กล่าวคือ
1) ปัจจัยเรื่องอุปทานด้านที่อยู่อาศัยมีมากเกินความต้องการ (Over Supply) ยังไม่มีสัญญาณที่อาจจจะเป็นปัญหา โดยในปี 2555 มีที่อยู่อาศัยสร้างใหม่จำนวน 102,000 ยูนิต เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ประมาณ 19% ขณะที่จำนวนยูนิตที่ขายได้ในปี 2555 อยู่ที่ 107,000 ยูนิต เพิ่มขึ้น 30% และมียูนิตคงเหลือในปี 2555 จำนวน 129,000 ยูนิต ลดลง 4% จากปีก่อน ซึ่งอยู่ในระดับประมาณ 130,000 ยูนิตติดต่อกันมา 3 ปี
2) ปัจจัยเรื่องราคาขายที่เพิ่มสูงขึ้น (Price Index) พบว่า สาเหตุหลักประการหนึ่งเกิดจากต้นทุนแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนค่าก่อสร้างเริ่มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ประมาณ 12.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า และทำให้ราคาที่อยู่อาศัยในปี 2555 เพิ่มสูงขึ้น โดยราคาบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้น 3% ราคาทาวน์เฮ้าส์เพิ่มขึ้น 2% ราคาคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น 6% นอกจากนี้ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น ยังเกิดจากราคาที่ดินในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีการปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้าซึ่งปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10.5% ส่งผลให้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Developer) ที่ซื้อที่ดินมาในราคาสูง ต้องดำเนินการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและขายออกไปในราคาที่สูงตามไปด้วย
3) สถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยภาพรวมของตลาดลดลง โดย ณ สิ้นปี 2554 อยู่ที่ 2.40% และสิ้นปี 2555 อยู่ที่ 2.30% นอกจากนี้ที่อยู่อาศัยที่ราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาทจะมีสัดส่วนของผู้ที่ซื้อด้วยเงินสดราว 30% และกู้เงินธนาคารราว 70% ขณะที่ที่อยู่อาศัยราคา 5 ล้านบาทขึ้นไปมีสัดส่วนซื้อด้วยเงินสด 50% และกู้เงิน 50% จึงยังไม่น่าเป็นห่วงเรื่องการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพื่อนำไปเก็งกำไรที่อยู่อาศัยเหมือนในอดีต ในขณะที่สถาบันการเงินเองก็มีการกลั่นกรองลูกค้าเป็นอย่างดี
4) ปัจจัยเรื่องสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ พบว่า ในปี 2555 กลุ่มบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มียอดขายต่ำกว่า 5 พันล้านบาท จะมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 1.10 เท่า ขณะที่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มียอดขายตั้งแต่ 5 พันล้านบาทขึ้นไป จะมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 1.54 เท่า นับว่าบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีส่วนของทุนสูง สามารถรองรับปัญหาและสภาพคล่องได้ดีกว่าเดิมมาก
นายชาติชาย ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวโน้มภาพรวมธุรกิจสินเชื่อบุคคล ยังคงเป็นตลาดที่มีโอกาสทางธุรกิจอยู่มากและคาดว่าภาพรวมตลาดสินเชื่อบุคคลในปี 2556 จะอยู่ที่ประมาณ 2.8 แสนล้านบาท หรือเติบโตจากปี 2555 ราว 11% ซึ่งตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลมีมูลค่ารวมที่ 2.52 แสนล้านบาท โดยมีจำนวนบัญชีทั้งสิ้น 9.9 ล้านบัญชี โดยการเติบโตหลักในปี 2555 มาจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีอัตราการเติบโตมากที่ 33.1% ซึ่งเป็นผลจากการที่ธนาคารพาณิชย์หันมาทำการตลาดสินเชื่อบุคคลมากขึ้น และการเข้าถึงบริการทางการเงินของภาคครัวเรือนไทยที่เป็นลูกค้าธนาคารพาณิชย์ได้ดีขึ้น
ด้านธนาคารกสิกรไทย มีพอร์ตวงเงินสินเชื่อบุคคลในปี 2555 อยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท ขยายตัวจากปี 2554 ราว 98% ด้านบัตรกดเงินสด K-Express Cash มียอดการสมัครบัตรใหม่ จำนวน 3.8 แสนบัตร ทำให้ปัจจุบันมีฐานลูกค้ารวมกว่า 8 แสนบัตร ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายธุรกิจสินเชื่อบุคคลให้เป็นบริการวงเงินกู้เผื่อฉุกเฉินที่มีไว้เพื่อสร้างความอุ่นใจ ช่วยเสริมสภาพคล่องในยามจำเป็น โดยไม่ต้องมีหลักประกัน เน้นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป สำหรับในปี 2556 ธนาคารตั้งเป้าการเติบโตจากปี 2555 ราว 39-42% พร้อมตั้งเป้าหมายจำนวนบัตรรวมทั้งสิ้น 1 ล้านบัตร ภายในสิ้นปีนี้