สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ประจำสัปดาห์ที่ 29 เม.ย. — 3 พ.ค. 56 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 6 - 10 พ.ค. 56

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 7, 2013 12:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--ปตท. ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ดังนี้:- - น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent)เพิ่มขึ้น 0.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 102.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล - น้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 2.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 93.71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล - น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 100.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล - น้ำมันเบนซิน 95 เพิ่มขึ้น 0.1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 111.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล - น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 114.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก - ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ลดอัตราดอกเบี้ยจาก 0.75% มาอยู่ที่ 0.50% ซึ่งเป็นการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 10 เดือน - กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 เม.ย. 56 ลดลง 15,000 ราย จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 324,000 ราย ต่ำสุดในรอบ 5 ปี - Commodity Future Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 เม.ย. 56 ของน้ำมันดิบ WTI รวมของตลาด NYMEX ที่นิวยอร์กและตลาด ICE ที่ลอนดอน กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับเพิ่มสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Positions) ของสัญญาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 6,392 สัญญา จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 230,819 สัญญา - กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯรายงานยอดใช้จ่ายผู้บริโภค (Consumer Spending) ของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 1/56 เพิ่มขึ้น 3.2% จากปีก่อนหน้า สูงสุดตั้งแต่ปี 53 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ - Eurostat รายงานอัตราเงินเฟ้อของกลุ่มยูโรโซนเดือน เม.ย. 56 ปรับตัวลดลง 0.5% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 1.2% ต่ำสุดในรอบ 3 ปี ทั้งนี้อัตราการว่างงานยูโรโซนในเดือน มี.ค.56 เพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 12.1% สูงสุดตั้งแต่การก่อตั้งยูโรโซนในปี 42 - สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 เม.ย. 56 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.69 ล้านบาร์เรล จากอาทิตย์ก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 395.28 ล้านบาร์เรล - Dow Jones Newswires รายงาน OPEC ผลิตน้ำมันดิบในเดือน เม.ย. 56 เพิ่มขึ้น 0.24 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 30.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้ง พ.ย. 55 - กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯรายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาส 1/56 ขยายตัวอยู่ที่ 2.5% เทียบจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 3% - อิรักรายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบเดือน เม.ย. 56 เพิ่มขึ้น 0.21 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 2.62 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่เดือน ต.ค. 55 แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น จากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางอาจส่งผลกระทบต่อแหล่งส่งออกน้ำมันดิบที่สำคัญของโลก หลังอิสราเอลปฏิบัติการณ์โจมตีทำลายขีปนาวุธ Fateh-110 ในดินแดนประเทศซีเรีย โดยเชื่อว่าอาวุธดังกล่าวกำลังขนย้ายจากอิหร่านไปสู่กลุ่ม Hezbollah ในเลบานอน และหากตกอยู่ในมือของกลุ่ม Hezbollah แล้ว เมือง Tel Aviv ของอิสราเอลจะอยู่ในระยะยิงของอาวุธดังกล่าว ทั้งนี้ทางการซีเรียได้รายงานว่าการโจมตีสร้างมีความเสียหายต่อบ้านเรือนและมีประชาชนและทหารเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากการโจมตีดังกล่าว อย่างไรก็ตามปัจจัยด้านเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนยังคงอ่อนแอ โดยดัชนี PMI รวมบ่งชี้ถึงการหดตัวของภาคธุรกิจ (ค่า PMI ต่ำกว่า 50 จุด) เป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกัน ทางด้านจีน HSBC รายงานดัชนี PMI ภาคบริการปรับตัวลดลงมาแตะระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ส.ค. 54 เนื่องจากจำนวนธุรกิจบริการที่เปิดใหม่ในจีนอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 20 เดือน และมีรายงานการลดพนักงานลงเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือน ม.ค. 52 ทางด้านนักวิเคราะห์จาก Morgan Stanley มองว่าตลาดน้ำมันดิบ Brent จะตึงตัวขึ้นอีกในช่วงเดือน มิ.ย. 56 เนื่องจากปัญหาอุปทานที่ลดลงในประเทศไนจีเรียและแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Ekofisk ในย่านทะเลเหนือ ทางเทคนิคคาดว่าสัปดาห์นี้ราคาน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหวในกรอบ 105.50-106.01เหรียญสหรัฐฯ/ บาร์เรล WTI จะเคลื่อนไหวในกรอบ 93.58 - 94.65 เหรียญสหรัฐฯ/ บาร์เรล Dubai จะเคลื่อนไหวในกรอบ 102.9 - 103.41 เหรียญสหรัฐฯ/ บาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน ปริมาณการส่งออกน้ำมันเบนซินจากจีนและอินเดียสู่สิงคโปร์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 136% และ 291% จากสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่ยอดขายเบนซินในญี่ปุ่นในเดือน มี.ค. ปรับตัวลดลง 0.94 ล้านบาร์เรล ลดลง 0.7% จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.13 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 11.70 ล้านบาร์เรล สูงสุดใน 15 เดือน สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล ปริมาณอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากไต้หวันและอินเดียกดดันราคาดีเซลเนื่องจากอุปทานในตลาดมีอยู่แล้สจาการส่งออกจากประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ขณะที่โรงกลั่นของไต้หวันออกประมูลขายดีเซล กำมะถันสูง กำหนดส่งมอบเดือนมิถุนายน 56 อีกทั้งปริมาณความต้องการใช้นำมันดีเซลของเวียดนาม มาเลเซีย และ ออสเตรเลียปรับตัวลดลง ทั้งนี้ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.32 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 10.42 ล้านบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ