กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
ก่อนจะถึงวันจัด งาน Insight AEC ซึ่งเป็นงานนิทรรศการและประชุมครั้งยิ่งใหญ่ที่นำ’โอกาสอาเซียน’ ในตลาดผู้บริโภค 600 ล้านคน มาสู่ผู้ประกอบการ นักธุรกิจไทย และคนไทยทั้งประเทศ โดยกำหนดจัดในวันที่ 10 -13 ตุลาคม 2556 ณ ชาเลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี นั้น
ในก้าวย่างสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) คณะกรรมการจัดงาน Insight AEC และ นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ได้จัดงานสัมมนา เรื่อง “โครงข่ายคมนาคมกับทิศทางการพัฒนาเมือง” ณ ห้องวิภาวดี บอลรูม C โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัล ลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยมี 7 กูรูผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรชั้นนำ มาเปิดเวทีเจาะเส้นทางลงทุนระบบขนส่งมวลชนเพื่อรองรับคนและการขยายเมือง ก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน งานนี้คับคั่งด้วยนักบริหาร คนทำงานมืออาชีพ นักวิชาการและสื่อมวลชน สนับสนุนโดย ช.การช่าง, พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค, สัมมากร, แอลจี และ กำแพงเพชรวิวัฒน์ก่อสร้าง
บนเวทีสัมมนา เริ่มด้วย ดร.จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) บรรยายหัวข้อ “แผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเพื่อรองรับคนและการขยายเมือง” ภาพรวมของระบบขนส่งมวลชนทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ ที่จะพลิกโฉมประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการเชื่อมต่อกับโครงข่ายในและระหว่างประเทศ การบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ในการพัฒนาเมือง แหล่งธุรกิจ และแหล่งผลิตบนเส้นทางคมนาคมต่างๆ และเส้นทางพัฒนายกระดับเมืองเศรษฐกิจชายแดน โดยเปิดเผยว่า “สนข.อยู่ระหว่างออกแบบเชื่อมโยงระบบขนส่งย่านสถานีกลางบางซื่อ สถานีขนส่งหมอชิตสายใหม่ และการให้บริการรถไฟฟ้าบริเวณนั้น โดยเบื้องต้นได้หารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ให้ย้ายสำนักงานใหญ่จากหัวลำโพงไปอยู่ที่บางซื่อ และให้ย้ายกระทรวงคมนาคมจากราชดำเนินมาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งจะช่วยสร้างความเติบโตให้เมืองและช่วยประหยัดพลังงาน อีกทั้งยังจะแข่งขันกับสายการบินระยะทาง 500-1,000 กม.ได้ โดยจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเดินทาง ทั้งนี้สถานีกลางบางซื่อที่กำลังสร้างจะมาทดแทนสถานีหัวลำโพง ซึ่งจะมีรถไฟฟ้าหลายสายให้บริการ และรถไฟความเร็วสูงในอนาคต โดย สนข.กำลังสำรวจเส้นทางในการสร้างรถไฟความเร็วสูง (Hi-Speed Train) 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทาง กรุงเทพฯ-พิษณุโลก, กรุงเทพฯ-นครราชสีมา, กรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-พัทยา-มาบตาพุด ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. 56 จากนั้นในเดือน ต.ค. 56 จะเปิดให้ภาคเอกชนไทยและต่างประเทศเสนอเทคโนโลยีการเดินรถไฟความเร็วสูงต่อไป จากโครงการดังกล่าว สนข.เชื่อมั่นว่าจะช่วยลดความหนาแน่นในเมือง โดยกระจายคนไปพักอาศัยอยู่นอกเมือง แล้วใช้ระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงานในการเดินทางโดยขนส่งคนเข้ามาประกอบธุรกิจ ทำงานและกิจกรรมในเมืองได้อย่างรวดเร็ว”
นายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดีกรมการบินพลเรือน บรรยาย หัวข้อ “จากเมืองหลักสู่เมืองรอง การเติบโตของการเชื่อมโยงนครทางอากาศ” แผนยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาเส้นทางการบิน สนองตอบการพัฒนาเมืองเศรษฐกิจในประเทศและระหว่างประเทศ ประโยชน์ที่จะได้รับแก่ผู้ประกอบการธุรกิจ อุตสาหกรรม การเดินทางท่องเที่ยว การลดต้นทุนค่าขนส่งในการผลิตต่างๆ ฯลฯ โดยเปิดเผยว่า “ขณะนี้ประเทศไทยได้เปิดเสรีการบินทั่วอาเซียนแล้ว และจะขยายไปยังภูมิภาคอื่นในอนาคต เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างประเทศ โดยปัจจุบันไทยมีท่าอากาศยาน 38 แห่ง และกำลังจะสร้าง/ขยายสนามบินเพิ่มเติมอีก 5 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานเบตง สนามบินอุบลราชธานี สนามบินอุดรธานี สนามบินกระบี่ และท่าอากาศยานนราธิวาส ทั้งนี้เพื่อรองรับการเติบโตด้านการขนส่งทางอากาศและเชื่อมโยงการเดินทางทั่วโลก ซึ่งไทยยังคงเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคอาเซียน และยังมีความได้เปรียบทางการท่องเที่ยวด้วย”
นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL กล่าวว่า “ปัจจุบันในกรุงเทพฯ การเดินทางด้วยระบบรางมีสัดส่วนเพียง 4% และอนาคตจะเพิ่มขึ้นเป็น 30% ใน 15 ปีข้างหน้า เมื่อระยะทางของระบบรางเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้ BMCL ได้เจรจาเรื่องเงินกู้เพื่อสนับสนุนการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงกับธนาคารกรุงไทยเรียบร้อยแล้ว และได้เจรจากับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เพื่อเตรียมพร้อมในการทำสัญญาว่าจ้าง สำหรับส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วง หัวลำโพง-ท่าพระ, ท่าพระ-เตาปูน และบางซื่อ-เตาปูน BMCL ก็พร้อมให้ความร่วมมือเจรจากับคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ซึ่ง BMCL เชื่อมั่นว่าจะสามารถช่วยลดต้นทุนการดำเนินการเดินรถไฟฟ้าในส่วนต่อขยายทั้งสองส่วนให้แก่รัฐ และยังช่วยเร่งรัดการเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้รวดเร็วด้วย
นายเอก สิทธิเวคิน หัวหน้าสำนักงานนโยบาย แผน วิจัยและพัฒนา การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า “เส้นทางรถไฟปัจจุบันยาว 4,034 กม. ครอบคลุม 47 จังหวัด โดยเป็นทางเดียว 89.5% ทางคู่ 8% และทางสาม 2.5% สำหรับโครงการรถไฟสายสีแดงของ ร.ฟ.ท.จะเป็นต้นแบบของการกระจายเมืองไปสู่ต่างจังหวัด ได้แก่ รถไฟเส้นทาง บางซื่อ-ตลิ่งชัน, บางซื่อ-รังสิต-มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ซึ่งจะสามารถเชื่อมต่อการเดินทางไปยังบ้านภาชี ฉะเชิงเทรา ราชบุรี รวมทั้งยังมีโครงการขยายทางรถไฟสายใหม่สู่อาเซียน ที่บริเวณชานเมือง เช่น ฉะเชิงเทรา นครปฐม เป็นการกระจายความเจริญในกรุงเทพฯ ไปสู่ชานเมืองด้วย”
นายสินธพ สิริสิงห รองผู้ว่าการฝ่ายปฏิบัติการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “แม้ว่าอัตราการเติบโตของทางด่วนจะน้อยกว่ารถไฟฟ้า แต่การสร้างทางด่วนก็ยังมีความจำเป็นในบางพื้นที่เพื่อเพิ่มเส้นทางการเดินรถและการกระจายความหนาแน่นของรถบนถนน โดยการทางพิเศษยังมีโครงการสร้างทางด่วนในอนาคต เช่นที่บริเวณสะพานพระราม 9 (2) อุโมงค์ที่หาดป่าตอง และที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งมีเสียงคัดค้าน อย่างไรก็ตาม การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจะเดินหน้าปรับระบบการบริการให้สะดวกสบายโดยใช้ระบบอัตโนมัติ เช่น Eazy Pass ในช่องจ่ายเงินพิเศษที่รวดเร็ว”
นายปรีชา รณรงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า “กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ส่งหนังสือไปยังผังเมืองจังหวัดให้ทำการปรับปรุงผังเมืองรวมของแต่ละจังหวัดให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐบาล โดยเฉพาะแผนการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง ที่ สนข. กำลังสำรวจเส้นทาง รวมทั้งการปรับปรุงและก่อสร้างรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ เพื่อให้มีการปรับปรุงการใช้ประโยชน์จากที่ดินระดับชุมชน ซึ่งอาจต้องเปลี่ยนแปลงไปตามแนวเส้นทางเดินรถหรือสถานีรถไฟความเร็วสูง เพราะบางพื้นที่อาจต้องเวนคืนที่ดิน ซึ่งการปรับ ผังเมืองจะช่วยลดผลกระทบและให้ใช้ประโยชน์จากที่ดินได้คุ้มค่า โดยขณะนี้มีผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่แห่งเดียวที่ปรับปรุงแล้ว และอยู่ระหว่างรอให้กฤษฎีกาตรวจสอบ ส่วนผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับปรับปรุงที่เตรียมประกาศใช้วันที่ 15 พฤษภาคมนี้ได้ปรับปรุงการใช้ประโยชน์ให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนารถไฟฟ้าทั้ง 10 สายแล้ว”
นายกิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า “การขอใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวตั้งหรือคอนโดมิเนียมในพื้นที่ต่างจังหวัดมีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่ในกรุงเทพฯ เริ่มชะลอตัว คาดว่าภายใน 5-10 ปีข้างหน้า คอนโดมิเนียมในต่างจังหวัดจะขยายตัวมากกว่ากรุงเทพฯ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดระยอง เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา สงขลา ภูเก็ต ซึ่งแนวโน้มการพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์ก็จะสอดคล้องทิศทางการพัฒนาเมืองและโครงข่ายคมนาคม”
นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมเพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม เอสเอ็มอี และประชาชนคนไทยทุกสาขาวิชาชีพ วางแผนรับมือและใช้โอกาสจากเออีซี ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รีบคว้าโอกาสอาเซียน...ก่อนที่จะละลายหายไป
PR AGENCY : บริษัท เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (BrainAsia Communication)
E-mail: brainasiapr@hotmail.com