กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กระทรวงสาธารณสุข มอบกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เสริมความรู้ ให้หน่วยงานต่างๆ ที่มีการผลิต ครอบครอง จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ กระตุ้นการพัฒนาระบบการจัดการด้านขนส่งเชื้อโรคและสารชีวภาพให้เป็นไปตามกฎหมายและหลักปฏิบัติสากล เพื่อป้องกันอันตรายและสร้างความปลอดภัยต่อสาธารณะ
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในประเทศไทยมีองค์กรและหน่วยงานหลายแห่งถือสิทธิครอบครอง เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเข้ามาเพื่อศึกษาวิจัย หรือดำเนินการเชิงธุรกิจ เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ที่มีอยู่ทั้งหมดจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายในการควบคุมความเป็นอันตราย เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยและป้องกันอันตรายต่อสาธารณะ ซึ่งประเทศไทยมีพระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ.2525 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2544 เป็นกฎหมายในการบังคับใช้ และหน่วยงานดังกล่าวจะต้องดำเนินกิจการด้วยความระมัดระวังไม่ทำให้เกิดการแพร่กระจายหรือใช้เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ในทางที่ผิดก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตโดยไม่เจตนา หรือแม้แต่ปล่อยปะละเลยให้ผู้ที่ไม่หวังดีนำเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ไปใช้ก่ออันตรายแก่ผู้อื่น
ดังนั้นบรรจุภัณฑ์และระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพจึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ซึ่งมีภารกิจดำเนินการตามพระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ ถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจเรื่องบรรจุภัณฑ์และการขนส่งเชื้อโรคและสารชีวภาพ โดยในครั้งนี้เป็นการให้ความรู้เรื่องการบังคับใช้กฎหมายตาม พรบ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ ชนิดของบรรจุภัณฑ์และวิธีการขนส่งเชื้ออันตรายและสารชีวภาพ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการขนส่งเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานที่มีการผลิต ครอบครอง จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ได้เกิดการพัฒนาระบบการจัดการด้านขนส่งเชื้อโรคและสารชีวภาพ ให้เป็นไปตามหลักวิชาการและหลักปฏิบัติสากล และตระหนักถึงความปลอดภัยต่อประชาชนและสาธารณะ
ด้าน นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาสำนักกำกับพระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ ได้ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงร่าง พรบ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ เพื่อให้เป็นฉบับที่เป็นประโยชน์สูงสุด โดยมุ่งเน้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเชื้อโรคและพิษจากสัตว์มีความรับผิดชอบต่อสาธารณะ ในการครอบครอง ผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออกหรือนำผ่านเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ที่ต้องมีระบบเหมาะสมเทียบเคียงนานาชาติ
สำหรับการพิจารณาออกใบอนุญาตการครอบครองก็ได้มีการจัดระดับความรุนแรงของเชื้อโรคไว้ด้วย เช่นต้องพิจารณาระดับมาตรฐานความปลอดภัยของห้องแล็ป คุณสมบัติที่จำเป็นของบุคลากรที่รับผิดชอบก็ต้องสอดคล้องเหมาะสม เป็นต้น ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จะทำให้รู้ว่าระดับความรุนแรงของเชื้อโรคจะอยู่ในห้องแล็ปที่ไหนบ้าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการวิจัยเรื่องอะไร และมีความปลอดภัยต่อสาธารณะหรือไม่ ซึ่งทางกรมจะมีการถ่ายทอดองค์ความรู้และหลักการให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว
ติดต่อ:
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม
โทรศัพท์ 0-2951-0000 ต่อ 99017 , 99081
โทรสาร 0-2591-1707