กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--นิโอ ทาร์เก็ต
Mr.Anders Steen Ansted (อะนัส สตีน อันสเตด) กรรมการผู้จัดการ Detect & Response Division บริษัท เทเลโทรล วัน จำกัด เปิดเผยในงาน “เสริมศักยภาพ หน่วยงานเก็บกู้ระเบิดและตรวจสารเสพติด” โดย บริษัท เทเลโทรล วัน จำกัด ว่า หลังจากเหตุการณ์ 911 เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2001 สร้างความหวาดระแวงต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่นับวันจะน่ากลัวเพิ่มมากขึ้น ล่าสุดกับเหตุการณ์ลอบวางระเบิดในการแข่งขันบอสตัน มาราธอน ที่มุ่งประสงค์ไปยังผู้บริสุทธิ์ ยิ่งทำให้สถานการณ์การคุ้มเข้มกับการรับมือเรื่องเหตุลอบวางระเบิดเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย รวมไปถึงเหตุการณ์ในประเทศไทย โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในการเสริมศักยภาพให้กับหน่วยงานที่ปฏิบัติงานในด้านความปลอดภัย
มิสเตอร์อะนัส ยังกล่าวต่อว่า บริษัท เทเลโทรล วัน จำกัด ได้ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ในด้านพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และการบูรณาการระบบการปฏิบัติงานทั่วไปให้แก่หน่วยงานต่างๆของภาครัฐมามากกว่า 20 ปีแล้ว โดยเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีความชำนาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบโครงข่ายที่ได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนชั้นนำ อาทิ โครงการติดตั้งและพัฒนาเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กเพื่อใช้กับสำนักงานเขต 50 เขตให้แก่กรุงเทพมหานคร โครงการพัฒนาระบบงานภาษีให้แก่กรมสรรพากร โครงการพัฒนาเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลในการสำรวจสำมะโนครัวประชากรปี พ.ศ.2553 ให้แก่สำนักงานสถิติแห่งชาติ โครงการพัฒนาปรับปรุงขีดความสามารถเพื่อควบคุมและสั่งการในภาวะวิกฤตและแจ้งเตือนภัย ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติแก่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น
โอกาสนี้ บริษัทของเราจึงอยากจะใช้เวทีนี้เป็นการประกาศเปิดแผนกใหม่ คือ แผนกนำเข้าอุปกรณ์ ด้านการรักษาความปลอดภัย หรือ (Detect & Respond Division) โดยแผนกใหม่ของเราจะมุ่งเน้นในการนำเข้าอุปกรณ์ด้านการรักษาความปลอดภัยต่างๆ ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่าทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด ซึ่งผลิตภัณฑ์ของเรานั้นมีหลากหลายอย่างเช่น อุปกรณ์เรดาร์สแกนใต้พื้นดิน เพื่อการสำรวจโครงสร้างชั้นดิน ตรวจสอบการก่อสร้างถนน และตรวจสอบวัตถุต้องสงสัยใต้ดิน , อุปกรณ์โซน่านำทางใต้น้ำที่ช่วยเรื่องการสำรวจร่องน้ำ พัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำ , หุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิด ที่เป็นเทคโนโลยีชั้นนำ ที่ช่วยพิทักษ์ชีวิตหน่วยเก็บกู้ระเบิด ให้ลดความเสี่ยงต่อการทำงานภาคสนาม และเครื่องตรวจไอระเหยวัตถุระเบิดและสารเสพติด ที่เป็นอุปกรณ์ชั้นนำทางด้านการตรวจหาสารเสพติด ด้วยเทคโนโลยีชั้นนำ เป็นต้น โดยภาพรวมของตลาดสำหรับอุปกรณ์ประเภทนี้ในประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเติบโตอย่างเห็นได้ชัด โดยปัจจุบันมูลค่ารวมของตลาด จากการคาดการณ์ความต้องการตลาดในผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันน่าจะมากกว่า 10,000 ล้านบาทโดยทางบริษัทฯได้ตั้งราคาเครื่องตรวจไอระเหยวัตถุระเบิดและสารเสพติด DUOSCAN ไว้ที่ประมาณ 2 ล้านบาท
ขณะที่ ร.ต.อ.ยุทธศักดิ์ ไข่ทา รองสารวัตรการกลุ่มงานเก็บกู้ และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด ซึ่งถือเป็นนักกู้ระเบิดมือหนึ่ง และเป็นครูฝึกของนักเก็บกู้ระเบิด ได้สะท้อนปัญหาการทำงานในพื้นที่ภาคสนามว่า การทำงานในภาคสนามเมื่อเจอวัตถุต้องสงสัย มี 4สถานการณ์ประเภท คือ 1.ประเภท A ระเบิดอยู่กับสิ่งสำคัญ ทั้งบุคคล และสถานที่สำคัญ อาทิ คลังน้ำมัน โรงเรียน โรงพยาบาล ซึ่งจะต้องเก็บกู้ด้วยมือ มีเครื่องมือประจำตัวเพียงคีม ไขควง น็อต หรือมีด ไม้ เท่านั้น 2.ประเภท B วางในอาคาร ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องวางแผนร่วมประชุมในทีม และเลือกใช้อุปกรณ์ทั้งบอมบ์สูท หุ่นยนต์ ปืนยิงน้ำ ในการเก็บกู้ โดยต้องรีบดำเนินการ เพราะหากมีการระเบิดจะเกิดความเสียหายในทรัพย์สินมาก และ 3.ประเภท C เป็นการวางระเบิดนอกอาคาร ทำให้พอมีเวลา ไม่ต้องรีบดำเนินการมาก ส่วนข้อ 4.ประเภท D เป็นการวางที่โล่งแจ้ง เป็นเรื่องที่ไม่ต้องรีบมาก เพราะอาจเป็นเพียงการลวง หรือกับดัก
นอกจากนี้ EOD มือดีของเมืองไทย ยังอธิบายปรัชญาของนักเก็บกู้ระเบิดว่ามี 4 ข้อ 1.ชีวิต ต้องปลอดภัยทั้งชีวิตของผู้เก็บกู้ และประชาชนทั่วไป 2.ทรัพย์สิน ต้องไม่เสียหาย 3.วัตถุพยานเพื่อประกอบการดำเนินคดี ต้องเก็บรวบรวมให้ครบถ้วน และ 4. ชุมชนต้องดำเนินชีวิตเป็นปกติ
ส่วนสถานการณ์ที่นักเก็บกู้วัตถุระเบิดต้องเผชิญมี 4 สถานการณ์ โดยในทีมเก็บกู้วัตถุระเบิดต้องประเมินสถานการณ์ร่วมกันก่อนตัดสินใจว่า จะเก็บกู้ระเบิดนั้นอย่างไร ประกอบด้วย 1.สถานการณ์ที่ต้องเก็บกู้ระเบิดด้วยมือเท่านั้น เป็นสถานการณ์ที่อยู่กับบุคคลสำคัญ หรือพื้นที่พิเศษ เช่นโรงพยาบาล 2.สถานการณ์ระเบิดภายในอาคาร 3.สถานการณ์ระเบิดภายนอกอาคาร และ 4.สถานการณ์ระเบิดกลางแจ้ง
ขณะเดียวกัน เรื่องของอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีสนับสนุนการทำงานนั้น พ.ต.ท.กำธร มองว่า ปัจจุบันเมื่อระเบิดถูกนำมาใช้ก่อเหตุค่อนข้างมาก การทำงานก็ต้องซับซ้อน สิ่งสำคัญเราไม่ค่อยกังวลเรื่องการเก็บกู้ แต่เรากังวลเรื่องการค้นหาไม่เจอ ตนมองว่า 3 ส่วนหลัก มีความสำคัญ คือ 1. คน ต้องใฝ่หาความรู้ มีทักษะ มีความสามารถและสมัครใจทำงาน 2.เครื่องมือต้องเป็นองค์ประกอบในการสนับสนุนการทำงานที่ดี ซึ่งประกอบรายการสำคัญถึง 10 รายการ ซึ่งเครื่องตรวจหาสารระเบิดก็เป็นส่วนหนึ่ง และ 3.ความรู้ความชำนาญ เจ้าหน้าที่ต้องสะสมประสบการณ์ในพื้นที่ ไม่ใช่ย้ายบ่อยๆ เพราะอาจจะไม่สนับสนุน
สำหรับเจ้าของผลิตภัณฑ์ Mr. Doron Shalom (โดรอน ชาโลม) กรรมการเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท MS Tech เผยว่า เครื่อง DOUSCAN ซึ่งเป็นเครื่องตรวจไอระเหยวัตถุระเบิดและสารเสพติด ยึดหลักการทำงานเบื้องต้นของสุนัขดมกลิ่นแต่ไม่เหนื่อยที่จะจดจำกลิ่นของสารก่อระเบิดและสารเสพติด ด้วยเทคโนโลยี HF-QCM (Quartz Crystal Microbalance) ความถี่สูงที่ทันสมัยที่สุดและเป็นกรรมสิทธิ์และจดสิทธิบัตรโคยบริษัทฯ ทำให้เครื่องสามารถตรวจหาสสารได้หลากหลายอย่างแม่นยำและรวดเร็ว ซึ่งใช้เวลาในการวิเคราะห์ผลน้อยกว่า 4.5 วินาที ส่วนการตรวจหาและระบุวัตถุเป้าหมายนั้นอาศัยปรากฏการณ์เพียโซอิเล็กทริก (Piezoelectric effect) โดยที่การเปลี่ยนแปลงมวลที่ตัวตรวจจับ HF-QCM จะส่งผลต่อความถี่โดยการดูดซึมวัตถุแปลกปลอมบนผิวเคลือบสารเคมีซึ่งความถี่ที่เปลี่ยนแปลงนี้ จะถูกตรวจจับและวัดผลอย่างแม่นยำ