กสทช.กำลังหาโมเดลกลไกการกำกับดูแลตนเอง-ร่วม ท้าทาย กสทช.ยกระดับสิทธิเสรีภาพสื่อ ก่อนสื่อจะมีระบบความคิดเซนเซอร์ตัวเอง

ข่าวเทคโนโลยี Friday May 10, 2013 14:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--กสทช. ถกต่อความเห็นเรื่อง “กลไก Self Censorship/Self Regulation” ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กทม. จัดโดยสำนักงานกสทช. เริ่มเปิดประเด็นโดย นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. กล่าวว่า กสทช.ตอนนี้ไม่ใช่ กบว. หรือ คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ที่ยกเลิกไปตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ซึ่งปัจจุบันกสทช.มีหน้าที่ในการกำกับดูแลเรื่องที่ขัดกฎหมายมีอำนาจสามารถสั่งห้ามได้ ตามมาตรา 37 ของพรบ.การประกอบกิจการกิจการกระจายเสียงวิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ.2551 จนถึงบัดนี้ กสทช.ยังไม่เคยใช้อำนาจสั่งห้าม มีเพียงเรียกปรับทางปกครอง และกำลังอยู่ในระหว่างการออกเกณฑ์กำกับรายการเนื้อหาที่ขัดต่อมาตรา 37 นอกจากนี้กสทช.มีหน้าที่ส่งเสริมให้มีการกำกับดูแลขององค์กรวิชาชีพ ขณะนี้ กสทช.กำลังหาต้นแบบหรือโมเดลที่เหมาะสมกับการกำกับดูแลทั้งแบบผ่านองค์กรวิชาชีพ หรือรวมกันกำกับดูแลโดยมีกรรมการจรรยาบรรณที่เป็นข้อถกเถียงว่าจะมาจากไหน โดยจะต้องผ่านออกมาเป็นประกาศฯเพื่อบังคับใช้ แต่ในระหว่างนี้ดูเหมือนว่าทุกท่านอยากให้การกำกับดูแลตนเองเป็นจริงและไม่ใช่การเซนเซอร์ตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากในสังคมไทย ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า บางทีความกลัวเป็นเรื่องของความอยู่รอด ทำให้อาจเป็นการเซ็นเซอร์ตั้งแต่การผลิตเลย ทั้งนี้ Self Censorship หรือการเซนเซอร์ตัวเอง มาจากปัจจัยข้างนอกที่ไม่ใช่คนในที่เป็นผู้ผลิตหรือทำสื่อ ได้แก่ กฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ อย่างกรณี ตอบโจทย์ เป็นการ Self Censorship ไม่ใช่ Self regulation เพราะถ้าเป็น Self Regulation จะต้องไม่ปล่อยให้ออกอากาศตั้งแต่เริ่มต้น อย่างใน BBC ของประเทศอังกฤษมีข้อสรุป ว่า Self Regulation ต้องเป็นอิสระจากรัฐบาล เอกชน ต้องมีองค์กรกลางที่อยู่ตรงกลางระหว่างรัฐบาล เอกชน และผู้บริโภค และการกำกับดูแลกันเองไม่สามารถทำได้อย่างเดียวจำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนหนุนเสริมจากภาครัฐ(State Regulation)ด้วย เมื่อการกำกับตนเองไม่เป็นผล จิรนุช เปรมชัยพร บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท กล่าวว่า มีความสับสนมาโดยตลอดระหว่าง Self Censorship กับ Self regulation ซึ่งเชื่อว่า การสื่อสารควรมีความหลากหลายให้เกิดขึ้น ว่าจริงๆแล้วการสื่อสารที่แตกต่างจะสร้างความเสียหาย หรือการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่จนเราไม่สามารถทำอะไรได้เลยหรือเปล่า จนทำให้สังคมต้องตกอยู่ภายใต้การสื่อสารที่แคบลงและอยู่ด้วยความหวาดกลัว สื่อทีวีมีรายละเอียดและความซับซ้อน เพราะการ Regulate คลื่น ที่เรียกว่า คลื่นสาธารณะ มัน Convergence ไปหมด กสทช.ควรทำอย่างไรที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของคนทำข่าวให้ไม่ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว Self Censorship กับ Self regulation ธัญญ์วาริณ สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวว่า การเซ็นเซอร์ในภาพยนตร์ไม่มีสิทธิเสรีภาพ ที่ต่างจากทีวีที่ยังสามารถมานั่งพูดคุยหาทางออกได้แบบเวทีนี้ ทั้งๆที่หนังก็ฉายในโรงหนังและเสียเงินด้วย การทำหนังยอมรับว่ามีการเซ็นเซอร์ตัวเองมีอยู่ตลอด อย่างไรก็ดีตอนนี้ถือเป็นโอกาสดีที่สังคมอยู่ในระหว่างการเรียนรู้เท่าทันสื่อ ที่สอนให้เราเริ่มคิดว่า นี่สื่อกำลังออกแบบสิ่งต่างๆให้มีอิทธิพลต่อเรา ซึ่งการรู้เท่าทันสื่อควรเริ่มต้นตั้งแต่เด็กและสอนผู้ใหญ่ไปพร้อมๆกันด้วย เพื่อให้มีภูมิต้านทานว่าเราจะเชื่อหรือไม่เชื่ออะไรและเท่าทัน ที่ผ่านมาสังคมไม่เคยสอนให้เราตั้งคำถามมากกว่าถูกทำให้เชื่อเพียงอย่างเดียว อ.ศาสวัต บุญศรี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.ศิลปากร ถือว่าเป็นความโชคดีของการดูทีวี ที่แม้จะใช้การจัดเรตแต่ก็ยังสามารถดูได้ ในขณะที่ภาพยนตร์จะตรงข้ามกัน อีกความย้อนแย้งหนึ่งในประเทศไทยคือ คนอายุ 18 ปีสามารถเลือกตั้งได้ แต่เรามีการจัดเรตได้ถึงอายุ 20 ปี นอกจากนี้ เห็นด้วยว่าการถูกลงโทษทางสังคม หรือ Social Sanction ในประเทศไทยเป็นเรื่องน่ากลัวมากที่เราไม่มีจุดตรงกลางร่วมกัน และข้อยากหนึ่งที่ กสทช.ต้องเผชิญ คือการนำคลื่นคืนมาจากทหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก ส่วนตัวเห็นด้วยกับการไม่ต้องควบคุมเนื้อหา แต่ต้องให้ความสนใจประเด็นที่มีผลกระทบต่อเด็ก วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ผู้ดำเนินรายการพื้นที่ชีวิต บอกว่า การถูกมาตรการลงโทษทางสังคมในโลกออนไลน์หนักกว่า การโดนเซ็นเซอร์จากสถานีหรือเซ็นเซอร์ตัวเอง การโดนรุมด่าในโลกออนไลน์เมื่อโดนจริงๆมันน่ากลัวมาก และถ้าโดนเยอะๆคุณจะโตและรู้ว่าไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เมื่อผ่านไปได้ ตอนนี้มีผลต่อการทำงานในรายการพื้นที่แห่งชีวิต ออกอากาศทางสถานีไทยพีบีเอส ทำให้เราตัดความกลัวที่ทำให้ต้อง Self Censorship แต่ทั้งนี้มาตรการทางสังคมก็ยังจำเป็นอยู่ เสนอถึงสถานีทีวีควรเปิดพื้นที่ในการรวบรวมความคิดเห็นจาก Social Sanction ของคนดูอย่างการทำเวบไซต์
แท็ก กสทช.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ