กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาสายงานด้าน ICT และเส้นทางอาชีพในสายงานวิชาชีพด้าน ICT ณ ห้องธาราเทพฮอลล์ ชั้น 2 โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ ว่า กระทรวงไอซีที ได้ดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับสายงานอาชีพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เพื่อจัดทำกรอบมาตรฐานวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญด้าน ICT ไทย ภายใต้โครงการส่งเสริมศักยภาพบุคลากร ICT ไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลและศึกษาสถานะของสายงานวิชาชีพด้าน ICT ของประเทศไทยที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดอุตสาหกรรม ICT ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการสอดรับกับกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พ.ศ. 2554-2563 ของประเทศไทย (ICT 2020) ในการพัฒนาบุคลากร ICT ให้มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญเทียบเท่าในระดับสากล
โดยที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้ดำเนินการศึกษา รวบรวมข้อมูลจากการสำรวจบุคลากรด้าน ICT และ การสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้บริหารจากภาคเอกชนต่างๆ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ถึงสายงานวิชาชีพด้าน ICT ของประเทศ รวมทั้งข้อดีและข้อเสียของการมีมาตรฐานวิชาชีพด้าน ICT ในภาคอุตสาหกรรม ICT อีกทั้งการศึกษาดังกล่าวยัง ครอบคลุมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีศักยภาพด้าน ICT อีกด้วย อาทิ ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศเวียดนาม และประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนั้นยังได้จัดทำเส้นทางอาชีพในสายงานวิชาชีพด้าน ICT โดยเน้นในด้าน Quality Assurance ซึ่งเป็นสายงานที่คาดว่าจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยภายหลังจากการศึกษา กระทรวงฯ ได้ดำเนินการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมด เพื่อจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งการประชุมดังกล่าวได้จัดขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดโดยมีผู้สนใจเข้าร่วมการประชุมกว่า 80 หน่วยงาน สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้เป็นการเผยแพร่ผลการศึกษาสายงานด้าน ICT และเส้นทางอาชีพในสายงานวิชาชีพด้าน ICT ที่กระทรวงฯ ได้ทำการศึกษามาเพื่อจัดทำกรอบมาตรฐานวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญด้าน ICT ต่อไปในอนาคต
“ผลการศึกษาสายงานด้าน ICT และเส้นทางอาชีพในสายงานวิชาชีพด้าน ICT ถือเป็นข้อมูลที่สำคัญ และเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ที่ใช้ ICT ในการดำเนินธุรกิจ ผลการศึกษาดังกล่าว สามารถนำมาปรับใช้เป็นแนวทางในการกำหนดเส้นทางการเติบโตในสายอาชีพของบุคลากรด้าน ICT ในหน่วยงาน และยังสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานบุคลากรด้าน ICT ในประเทศ รวมทั้งเป็นการรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศตลอดจนเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมด้าน ICT ของประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปีพ.ศ. 2558 ต่อไป” นายสมบูรณ์กล่าว
ติดต่อ:
PR.MICT 02-141-6747