ฟรีทีวี 6 ช่องโชว์จรรยาบรรณและช่องทางที่ร้องเรียน ช่อง 5 ขอ กสทช. บอกกรอบทีวีสาธารณะเพื่อความมั่นคงที่อยากเห็น

ข่าวเทคโนโลยี Saturday May 11, 2013 13:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--สำนักงาน กสทช. กสทช.เปิดเวทีให้ฟรีทีวี 6 ช่อง นำเสนอจรรยาบรรณจริยธรรมและแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องกลไก Self Censorship /Self regulation อย่างเข้มข้นหลังกบว.ยุติ ด้านช่อง 5 พร้อมรับฟังกรอบทีวีสาธารณะจาก กสทช.ที่ต้องการ ยืนยันทีวีเพื่อความมั่นคงลึกซึ้งกว่าที่เห็นว่าเป็นช่องทหาร วันนี้(พฤหัส 9 พ.ค.56) นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ร่วมการเปิดเวทีประชุมเสวนาเพื่อนำเสนอจรรยาบรรณในกิจการโทรทัศน์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องกลไก Self Censorship /Self regulation ที่สำนักงาน กสทช.จัดขึ้น พร้อมกล่าวว่า การจัดเวทีนี้เป็นการเปิดให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมให้ความเห็นเพื่อเป็นแนวทางต่อ กสทช.นำไปใช้ในการกำกับดูแลทางนโยบาย และเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงการให้กิจการโทรทัศน์ และกิจการกระจายเสียงรายใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นได้มีความเข้าใจและเกิดแนวทางกลไกการรับเรื่องร้องเรียนและมีแนวทางควบคุมกันเองในด้านจริยธรรมของวิชาชีพ ทั้งนี้ ในวันที่ 22 — 23 พ.ค.นี้ขอเชิญชวนผู้ประกอบการทีวีและวิทยุร่วมงานจรรยาบรรณวิชาชีพในวงการสื่อและโฆษณา : จากอดีตถึงปัจจุบัน สู่ความท้าทายของกลไกการกำกับดูแลกันเอง โดยสำนักงานร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์จัดงานนี้ขึ้นสองวัน เพื่อใช้เวลาในการปรับความคิดและทำความเข้าใจระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยมีกสทช.เป็นตัวกลาง ในเวทีช่วงเช้าเป็นการนำเสนอจรรยาบรรณและแนวทางปฏิบัติ ในการกำกับดูแลตนเองของฟรีทีวีทั้ง 6 ช่อง ประกอบไปด้วย คุณนิมะ ราซิดี สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 คุณทวินันท์ คงคราญ เลขานุการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 คุณสุบัณฑิต สุวรรณนพ ผู้จัดการฝ่ายผลิตรายการ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 7 คุณสนธิ อิชยาวิโรจน์ ผูช่วยกรรมการ ผู้อํานวยการใหญ่ สํานักกฎหมายModern Nine TV คุณพรอัปสร นิลจินดา ผู้อํานวยการส่วนจัดและควบคุมรายการ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง 11) และ คุณจิตติมา บ้านสร้าง บรรณาธิการแผนและยุทธศาสตร์ข่าว สํานักข่าว ThaiPBS ทั้ง 6 ช่อง มีระเบียบและแนวทางปฏิบัติทางจริยธรรมของผุ้บริหาร บรรณาธิการ ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานที่เข้มข้นขึ้น หลังยกเลิกคณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ หรือ กบว. ในปี 2535 คุณ นิมะ จากช่อง 3 ยอมรับโดนเรื่องร้องเรียนจากคนดูเข้ามาเยอะ งานทีวีเป็นงานที่เยอะและเจอปัญหาทุกวัน ซึ่งเดี๋ยวนี้หากถูกร้องเรียน หรือ ฟ้องร้อง เรื่องส่งไปที่กสทช.ไม่ได้มาที่สถานีแล้ว ทั้งนี้ ทั้งผู้ผลิต นักแสดง ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาองค์กรวิชาชีพแห่งประเทศไทย มี ดร.อรุณีประภาฯ เป็นประธาน ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆช่วยพิจารณาเรื่องร้องเรียนด้วย อีกปัญหาที่ช่อง3 เจอ คือการนำละครต่างประเทศมาฉาย อาจกลายเป็นผิดจริยธรรม ทั้งๆที่แต่ละประเทศมีวัฒนธรรมในแบบของเขาที่อาจขัดกับของเรา ทางตัวแทนช่อง 5 คุณทวินันท์ คงคราญ กล่าวว่า ช่อง 5 ได้เตรียมความพร้อมทั้งการปรับผังรายการ 70:30 และสตูดิโอเข้าสู่การรับใบอนุญาตทีวีสาธารณะ ประเภทความมั่นคง ที่มีความลึกซึ้งมากกว่าทีวีของทหาร ขอกรอบที่ชัดเจนของ กสทช.เรายินดีปรับตัว เสนอให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นและพูดคุยกัน ทั้งนี้การควบคุมตนเองด้านจริยธรรมหรือจรรยาบรรณ อยู่ในแนวทางของแผนแม่บทบริหารของสถานี ที่บุคลากรต้องยึดแนวทางการปฏิบัติตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มีกลไกการปฏิบัติตามแนวจริยธรรมภาพรวม ผู้บริหารมีการประชุมกับผู้ผลิตทั้งภายในภายนอก และการจัดผังรายการ มีหลักเกณฑ์กลไกการรับเรื่องร้องเรียนภายใน 30 วัน ผ่านช่องทางการร้องเรียน โทรศัพท์ เวบไซต์ จดหมาย ฯลฯ โดยยึดนโยบายการทำงาน “ถูกต้องก่อนถูกใจ คุณค่าใหญ่กว่าเรตติ้ง” คุณสุบัณฑิต ตัวแทนช่อง 7 กล่าวว่า การดูแลตนเองของสถานีเรามีมานานแล้ว และเน้นการกลั่นกรองตัวผู้จัดว่าเหมาะสมกับละครแบบไหน หรือรายการเนื้อหาแบบไหน มีคณะกรรมการพิจารณาการผลิตละครโทรทัศน์ ทำหน้าที่ควบคุมเพื่อให้ละครที่สถานีฯดำเนินการผลิตมีความเหมาะสมในการนำเสนอต่อผู้ชม โดยคัดเลือกตั้งแต่บทประพันธ์ที่มีความเหมาะสม ไม่หมิ่นเหม่ทางด้านจริยธรรม คุณธรรม จึงทำให้ช่อง 7 ไม่ค่อยมีเรื่องร้องเรียนจากคนดู แต่หากถ้ามีการควบคุมที่เข้มข้นขึ้น อาจทำให้สังคมไทยเสียโอกาสการดูละครเนื้อหาที่น่าสนใจบางเรื่อง อย่างเช่นเนื้อหาละครที่กล่าววถึงด้านไม่ดีของบางอาชีพในสังคม ส่วนการคัดเลือกภาพยนตร์และการจัดวางภาพยนตร์ช่อง7สีได้ยึดหลักพรบ.พิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ 2551 ตัวแทนช่อง9 (อสมท.) คุณสนธิ กล่าวว่า บางครั้งเกิดความสับสนในบทบาทระหว่างความเป็นบริการสาธารณะ หน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชน และรัฐวิสาหกิจ ต้องยึดถือกับกฎหมายหลายฉบับ แต่อสมท.เองมีระเบียบและข้อปฏิบัติของจรรยาบรรณของผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหาร และมีหน้าที่ต่อความรับชอบต่อประโยชน์สาธารณะและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งยอมรับว่าบางคนก็อาจจะนอกลู่นอกทางบ้าง ตัวแทนช่อง 11 คุณพรอัปสร มีคณะกรรมการตรวจสอบ มีกฎระเบียบของกรมประชาสัมพันธ์ที่เคยปฏิบัติ ทั้งจริยธรรมของผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน และการแพร่ภาพทั้งกิจการกระจายเสียง และโทรทัศน์ การเคารพสิทธิส่วนบุคคล การกฎหมาย ความมั่นคง ศาสนา ทรัพย์สินทางปัญญา อยู่ภายใต้ 3 สถาบันหลัก มีบทกำหนดลงโทษ คุณจิตติมา จากสถานีไทยพีบีเอส กล่าวถึงการเกิดขึ้นขององค์กรนี้ ได้มี พรบ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ที่ได้กำหนดกระบวนการสรรหา ที่มารายได้ ข้อบังคับทางจริยธรรมวิชาชีพ มีกระบวนตรวจสอบจากสาธารณะ(สภาผู้ชมผู้ฟัง) มีกลไกลรับเรื้องร้องเรียน และมีข้อบังคับให้ชัดเจนมากขึ้นของผู้ปฏิบัติ ทั้งเรื่องที่ควรและไม่ควร ไทยพีบีเอสถูกกำหนดให้การผลิตและเผยแพร่ข่าวและรายการต้องมีความแตกต่างและลักษณะเฉพาะตัว จึงทำให้ต้องมีแนวจริยธรรมที่กำหนดลงไปรายละเอียดอีก มีคณะกรรมการจัดหาและควบคุมคุณภาพรายการ มี Style Book ที่ผู้ชมสามารถเข้าถึงได้ที่หน้าจอ นอกจากนี้สถานีมีกลไกการตรวจสอบจากภายนอก มีสภาผู้ชมผู้ฟังที่ทำน้าที่ส่ง Feedback มาให้เราอีกทาง
แท็ก ช่อง 5   กสทช.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ