กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมสัมมนา เรื่อง "วิกฤติภัยแล้ง...แล้งซ้ำซาก...ทางรอดเกษตรกรอีสาน : วาระแห่งอีสาน วาระแห่งชาติ"ณ หอประชุมอาคารกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ซึ่งสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยสภาเกษตรกรจังหวัดทุกจังหวัดในภาคอีสาน ได้จัดร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ว่า ตนได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีมาปฏิบัติหน้าที่แทน รวมทั้งได้ฝากความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ภัยแล้งในภาคอีสานที่มีความรุนแรงในปีนี้ ทั้งนี้ เรื่อง "น้ำ" ถือเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญ และจะเร่งผลักดันเพื่อให้เกิดการบูรณาการในการบริหารจัดการน้ำทั่วทั้งประเทศอย่างเป็นระบบ สามารถป้องกันอุทกภัยและภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะเร่งขยายพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น ด้วยการก่อสร้างระบบชลประทานขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงการขุดลอกคูคลอง หนองบึง แม่น้ำ และแหล่งน้ำธรรมชาติอื่น ๆ ที่มีอยู่เดิม ขยายเขตพื้นที่การสูบน้ำด้วยไฟฟ้า จัดสร้างคลองส่งน้ำขนาดเล็กเข้าสู่ไร่นา และขยายเขตการจัดรูปที่ดิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและการผลิต เพื่อใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเหมาะสมกับชนิดพืชและสัตว์ และจัดหาแหล่งน้ำอื่น ๆในระดับไร่นาและชุมชนให้ทั่วถึง
นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตระหนักดีถึงภารกิจที่สำคัญยิ่งในเรื่องนี้ และได้กำหนดไว้ในแผนแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี (พ.ศ. 2555 - 2558) ในประเด็นยุทะศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาทรัพยากรการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ สมดุล และยั่งยืน โดยจะเร่งพัฒนาแหล่งน้ำ เพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำ และขยายพื้นที่ชลประทานให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพิ่มประสิทธิภาพของกลไกบริหารจัดการน้ำให้สูงขึ้น เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรและชุมชนในกระบวนการพัฒนาแหล่งน้ำ และการบริหารจัดการน้ำทุกระดับอย่างบูรณาการ สนับสนุนให้มีการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กในไร่นา เพื่อสามารถเก็บน้ำใช้ในการเกษตรและอุปโภคบริโภคได้อย่างพอเพียง เพื่อสร้างความมั่นคงในการผลิตของเกษตรกรและชุมชน ตลอดจนผลักดันให้เกิดการดำเนินงานอย่างบูรณาการ เชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ รวมทั้งจะสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่การเกษตร
นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปีนี้ ในพื้นที่กว่าค่อนประเทศขณะนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มิได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งบรรเทาช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลังความสามารถ แต่ด้วยข้อจำกัดหลายประการ อาจส่งผลให้การช่วยเหลือในบางพื้นที่มีความล่าช้า และไม่ทั่วถึง หรือยังไม่พอเพียงอยู่บ้าง ซึ่งทางภาครัฐจะเร่งแก้ไขข้อขัดข้องดังกล่าวให้หมดไปโดยเร็ว ซึ่งการจัดประชุมสัมมนาครั้งนี้ นอกจากจะสามารถได้ข้อสรุปเพื่อการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในภาคอีสานที่เป็นรูปธรรมได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรภาคอีสานหลุดพ้นจากภาวะความยากจนเพราะภัยแล้งซ้ำซากต่อไป
"สภาเกษตรกรแห่งชาติ และสภาเกษตรกรจังหวัด ซึ่งมีเครือข่ายเชื่อมโยงตั้งแต่เกษตรกรในระดับหมู่บ้านขึ้นมาจนถึงระดับชาติ จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยสะท้อนข้อมูลข้อเท็จจริงให้หน่วยงานภาครัฐผู้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งที่กำลังคุกคามต่อการประกอบอาชีพและสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี เพื่อช่วยให้การแก้ไขปัญหาของภาครัฐตรงประเด็น เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างฉับไว นอกจากนี้ ยังเป็นบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาให้ภาคเกษตรของไทยมีความเจริญก้าวหน้า เพื่อให้เกษตรกรซึ่งเป็นประชากรกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่อาศัยในภาคอีสาน มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน อีกทั้ง การจัดประชุมสัมมนาครั้งนี้ จะสามารถได้ข้อสรุปเพื่อการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในภาคอีสานที่เป็นรูปธรรม สามารถแก้ไขให้หมดสิ้นไปได้อย่างยั่งยืน ช่วยให้เกษตรกรภาคอีสานหลุดพ้นจากภาวะความยากจนซ้ำซากเพราะภัยแล้งซ้ำซาก" นายยุทธพงศ์ กล่าว