รมว.พม. ร่วมเปิดงานการนำเสนอรายงานการศึกษาสถานการณ์ ด้านการคุ้มครองทางสังคมในประเทศไทย บนฐานคิด เรื่องฐานการคุ้มครองทางสังคม

ข่าวทั่วไป Monday May 13, 2013 13:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--พม. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวรายงาน การนำเสนอรายงานการศึกษาสถานการณ์ด้านการคุ้มครองทางสังคมในประเทศไทย บนฐานคิดเรื่อง ฐานการคุ้มครองทางสังคมโดยมี นายนิวัฒน์ธํารง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถา นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองทางสังคมเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดำเนินงานเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล ด้านความมั่นคงของชีวิตและสังคม ภายใต้การเปลี่ยนผ่านของโครงสร้างประชากรและสังคมไทย มีความจำเป็น ที่ต้องสร้างสวัสดิการที่มั่นคงให้แก่คนไทยทุกคน โดยล่าสุดได้ดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ในการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม โอเอสซีซี (OSCC) เพื่อให้การช่วยเหลือเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ตกเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ ครม.ได้มีมติ มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นประธานร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ในการปฏิบัติงานตามกรอบความร่วมมือ หุ้นส่วนระหว่างประเทศไทยกับองค์การสหประชาชาติในประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๕ — ๒๕๕๙ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙) และนโยบายของรัฐบาล ในสาขาการคุ้มครองทางสังคมนั้น กระทรวงฯ ร่วมกับส่วนราชการและองค์การเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ความร่วมมือแก่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ในการจัดทำรายงานการศึกษาสถานการณ์ด้านการคุ้มครองทางสังคมในประเทศไทย บนฐานคิด เรื่องฐานการคุ้มครองทางสังคม โดยมีกระบวนการอบรมให้ความรู้เรื่องการคิดประมาณการค่าใช้จ่ายด้านการคุ้มครองทางสังคม การจัดให้มีเวทีการประชุมระดม ความคิดเห็นร่วมกัน กระทรวงฯได้ให้นโยบายเป็นพิเศษ เพื่อให้ส่วนราชการต่างๆ ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลการดำเนินงานคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทย และได้นำรายงานดังกล่าวไปประชุมหารือในคณะอนุกรรมการนโยบายและแผนในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ นายสันติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับรายงานการศึกษาสถานการณ์ด้านการคุ้มครองทางสังคมในประเทศไทย บนฐานคิด เรื่องฐานการคุ้มครองทางสังคม ฉบับนี้ ถือเป็นเครื่องมือทางวิชาการที่มีประโยชน์สำหรับรัฐบาลไทยและองค์การสหประชาชาติ ในการนำไปใช้ส่งเสริมและพัฒนางานด้านการคุ้มครองทางสังคม ทั้งนี้ การนำไปใช้ย่อมขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมไทย ความพร้อมของทรัพยากร ความสามารถเชิงเศรษฐกิจ ฐานะทางการเงินการคลังของประเทศ และการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานที่เหมาะสม โดยบูรณาการร่วมกับโครงการคุ้มครองทางสังคมต่างๆ ที่มีอยู่อย่างหลากหลายในสังคมไทย ภายใต้หลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืน และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน “การคุ้มครองทางสังคม เป็นเรื่องที่กระแสสังคมโลก โดยเฉพาะองค์การสหประชาชาติได้ให้ความสำคัญมาก ทางกระทรวงฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะที่ได้จากรายงานดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการคุ้มครองทางสังคมในบริบทของสังคมไทย และจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการคุ้มครองทางสังคมในกระแสสังคมโลกต่อไป” นายสันติ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ