กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--สวทช.
ปัญหาดินเสื่อมโทรมจากการใช้ปุ๋ยมากเกินจำเป็น ทำให้ผลผลิตของพืชเศรษฐกิจตกต่ำ ปริมาณการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศสูง ส่งผลให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อพื้นที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งคุณภาพของปุ๋ยที่ไม่เหมาะสม ที่มีปริมาณธาตุอาหารและระยะเวลาไม่ตรงกับความต้องการของพืชแต่ละชนิดล้วนเป็นปัญหาต่อการพัฒนาพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยตลอดมา
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า โครงการผลิตปุ๋ยสูตรผสม NPK ชนิดควบคุมการปลดปล่อยธาตุอาหารสำหรับพืชเศรษฐกิจโดยเทคนิคการเคลือบนาโน (Controlled Release NPK Fertilizers Coated by Nano-composited Polymer to Improve Efficiency of Nutrient Usage in Crop Plants) เป็นผลงานวิจัยของ ทีมวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ(นาโนเทค) สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมมือกัน พัฒนา “ปุ๋ยนาโน” ซึ่งได้พัฒนาสูตรเคลือบปุ๋ยขึ้นมาเป็นพิเศษ สาเหตุที่ต้องพัฒนาปุ๋ยนาโนขึ้นมานั้นเพราะพืชแต่ละชนิดมีความต้องการธาตุอาหารในแต่ละช่วงของการเติบโตที่แตกต่างกัน ปุ๋ยจึงเป็นต้นทุนที่สำคัญ แต่ส่วนใหญ่การใส่ปุ๋ยให้พืชแต่ละชนิด ที่ส่วนมากพบว่าจะเกิดการสูญเสียธาตุอาหารก่อนที่พืชจะนำไปใช้ประโยชน์ เช่น ปุ๋ยมีการละลายตัวเร็ว ดินในการปลูกพืชไม่สามารถดูดซึมอาหารไว้ได้ อีกทั้งปัญหาดินเสื่อมสภาพจากการใช้ปุ๋ยเป็นระยะเวลานาน ทำให้ต้องเพิ่มปุ๋ยในปริมาณที่มากขึ้น แต่พืชกลับใช้ประโยชน์จากปุ๋ยได้น้อย ทางศูนย์นาโนเทคฯ กับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)ได้ร่วมมือกัน โดยนาโนเทคฯ ได้พัฒนาสูตรเคลือบปุ๋ยขึ้นมาเป็นพิเศษ ส่วนทาง วว. ได้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีอยู่แล้ว และในปุ๋ยเคมีที่ วว. ใส่เข้าไปในส่วนผสมของปุ๋ยอินทรีย์นั้น จะมีกระบวนการเคลือบเม็ดปุ๋ย ด้วยวัสดุนาโนพอลิเมอร์จากธรรมชาติที่มีรูพรุนและมีอนุภาคเล็กๆระดับนาโน เคลือบเข้าไปในส่วนผสมของปุ๋ยอินทรีย์ ส่งผลให้ปุ๋ยสามารถควบคุมปริมาณและระยะเวลาการปลดปล่อยธาตุอาหาร ทำให้พืชได้รับธาตุอาหารตามความต้องการของพืชและสภาพของดินแต่ละพื้นที่หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า“ปุ๋ยสั่งได้”
ดร.วิยงค์ กังวานศุภมงคล หัวโครงการวิจัย และหัวหน้าห้องปฏิบัติการโครงสร้างนาโนไฮบริดและนาโนคอมพอสิท กล่าวว่า โครงการดังกล่าว ทีมวิจัยศูนย์นาโนเทคฯ ได้ทำการวิจัยและพัฒนาปุ๋ยนาโน เพื่อให้เกิดการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดการสูญเสียธาตุอาหารน้อยที่สุด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลงานวิจัยนี้ ทำให้เกิดประโยชน์หลายหลายประการ เช่น สามารถลดต้นทุนโดยรวม และลดปริมาณการใช้ปุ๋ย ลดจำนวนครั้งในการใช้ปุ๋ย ลดต้นทุนด้านแรงงานเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ย นอกจากนั้นแล้วคุณสมบัติของ ปุ๋ยยังสามารถกำหนดการปลดปล่อยธาตุอาหารได้ 3 เดือน หรือ 6 เดือนตามความต้องการของพืช ทำให้พืชสามารถดูดซึมอาหารไปใช้ประโยชน์เต็มที่และช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ ที่สำคัญยังช่วยลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการตกค้างของปุ๋ยในดิน รวมทั้งช่วยให้ประเทศไทยลดการนำเข้าปุ๋ยได้ด้วย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
ดร. วิยงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันโครงการนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เหมาะสมต่อพืชเศรษฐกิจ สำคัญของไทย และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในการเพาะปลูกของประเทศไทย ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เป็นโครงการสำคัญที่จะทำให้เกิดศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีนาโนในพื้นที่ภูมิภาค ต่างๆ ของประเทศ ทั้งนี้ในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ คณะผู้บริหารและทีมนักวิจัยศูนย์นาโนเทคจะลงพื้นที่ที่ อ.เด่นชัย จ.แพร่ เพื่อร่วมหารือกับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีแพร่ และสำรวจพื้นที่ในการจัด ตั้งโรงงานผลิตปุ๋ย รวมถึงการอบรมและถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีในการผลิตปุ๋ยดังกล่าวให้แก่ บุคลากรครูของวิทยาลัยเกษตรฯ จ.แพร่ ซึ่งบุคลากรครูที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีแล้วนั้นจะได้นำไป ถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ต่อไป
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
จุดประกายความคิด สร้างโอกาสธุรกิจไทย
ส่งมอบผลงานวิจัย พัฒนาไทยสู่สังคมฐานความรู้ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
งานประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนัก
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ(นาโนเทค)-สวทช.
โทร. 0 2564 7100 # 6604
Arthit@nanotec.or.th