กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--เจซีแอนด์โค พับบลิครีเลชั่นส์
- กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จัดกิจกรรมอุทยานการเรียนรู้อุตสาหกรรมสนับสนุน แหล่งรวมความรู้อุตสาหกรรม สำหรับผู้ประกอบการ นิสิต นักศึกษา พร้อมเปิดให้บริการตลอดปี 56
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน (สพส.)นับเป็นหน่วยงานสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย เนื่องจากอุตสาหกรรมสนับสนุนเป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตวัตถุดิบ สินค้า และบริการให้ทั้งอุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำ จึงมุ่งผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนในประเทศไทย เพื่อให้อุตสาหกรรมการผลิตของไทยสามารถผลิตชิ้นงานที่มีคุณภาพในระดับมาตรฐานสากลได้โดยผ่านการจัดกิจกรรมอันเป็นประโยชน์มากมาย อย่างอุทยานการเรียนรู้อุตสาหกรรมสนับสนุน เพื่อเป็นแหล่งรวมความรู้ใหม่ให้ผู้สนใจได้เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมสนับสนุน ที่ผู้เข้าร่วมงานสามารถชมนิทรรศการ พร้อมสัมผัสชิ้นงานตัวอย่างจริง ชมสาธิตการทำงานของเครื่องจักรการผลิต และสามารถเรียนรู้ประสบการณ์จริงในโรงงานต้นแบบได้ โดยอุทยานฯ จะแบ่งออกเป็น 5 สถานี ได้แก่ สถานีที่ 1 ศูนย์เรียนรู้อุตสาหกรรมสนับสนุน สถานีที่ 2 จากแร่เหล็กสู่รถยนต์ สถานีที่ 3 กระบวนการขึ้นรูปโลหะ/ พลาสติก สถานีที่ 4 กระบวนการหล่อ หลอม ชุบแข็ง และสถานีที่ 5 จากเม็ดพลาสติกสู่ผลิตภัณฑ์นอกจากนี้ยังมีสัปดาห์อุตสาหกรรมสนับสนุน ซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะได้พบกับกิจกรรมมากมาย อย่างกิจกรรมคลินิกอุตสาหกรรม เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการขึ้นค่าแรง 300 บาท โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้บริการคำปรึกษาแนะนำ วินิจฉัยเบื้องต้นแก่ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาและต้องการความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ เช่น การผลิต การตลาด การจัดการ มาตรฐานสินค้า
โดยอุทยานการเรียนรู้อุตสาหกรรมสนับสนุน จัดขึ้นตลอดปี 2556 ตั้งแต่เวลา 08.30 — 17.00 น. ณ อาคารพันธมิตรอุตสาหกรรมสนับสนุน สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซอยตรีมิตร ถนนพระราม 4 คลองเตย กรุงเทพฯ สำหรับผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมชมงานดังกล่าว สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 023678106 หรือเข้าไปที่ http://bsid.dip.go.th
นายโสภณ ผลประสิทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เนื่องด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก การเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า และสร้างความได้เปรียบเชิงแข่งขัน มากกว่าการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า ทำให้ลักษณะโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขาที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจทั้ง 6 ประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิคส์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งล้วนแต่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสนับสนุนทั้งสิ้นเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตวัตถุดิบ สินค้า และบริการให้แก่อุตสาหกรรมรายสาขาต่างๆ ทั้งอุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำ อาทิ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วน อุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักร/อุปกรณ์ และอุตสาหกรรมบริการ เช่น การบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ทำให้อุตสาหกรรมสนับสนุนที่เปรียบเสมือนเบื้องหลังความสำเร็จของผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่างๆ จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมรายสาขาเพื่อผลักดันให้เกิดการเติบโตของอุตสาหกรรมไทยที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ด้วยเหตุนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงริเริ่มดำเนินการศึกษาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนในประเทศไทย และจัดตั้งสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน (สพส.) ขึ้น ในปี 2531โดยมุ่งเน้นการให้บริการในเรื่องต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม เช่น การบริหารจัดการเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีด้านการจัดการที่ทันสมัย โดยใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น การวินิจฉัย การลดต้นทุน การวิเคราะห์ทดสอบเพื่อให้อุตสาหกรรมการผลิตของไทยสามารถผลิตชิ้นงานที่มีคุณภาพในระดับมาตรฐานสากลได้ รวมถึงการจัดตั้งสถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม เช่น สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันยานยนต์ และสถาบันไทย-เยอรมัน เพื่อรองรับการให้บริการแก่โรงงานในภาคอุตสาหกรรมสนับสนุนนอกจากนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ยังได้จัดทำนโยบาย 3 ประสานขึ้น ซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่าง 3หน่วยงาน ได้แก่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดย สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนสถาบันเครือข่ายภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม และสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสนับสนุน โดยได้มีการวางยุทธศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือตามนโยบาย 3 ประสาน ทั้ง 5 ด้าน หรือที่เรียกว่า ยุทธศาสตร์ DC3M อันได้แก่“ยุทธศาสตร์สร้างฐานข้อมูล”“ยุทธศาสตร์การรวมกลุ่ม”“ยุทธศาสตร์สร้างแรงงานคุณภาพ”“ยุทธศาสตร์พัฒนาเครื่องจักร”“ยุทธศาสตร์สินเชื่อ”นายโสภณกล่าว
ด้านนายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ยุทธศาสตร์DC3M เป็นยุทธศาสตร์ที่สามารถส่งเสริมอุตสาหกรรมสนับสนุนให้สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย สพส. ได้นำยุทธศาสตร์ทั้งหมดมาแตกแขนงให้เกิดเป็นโครงการและกิจกรรมต่างๆอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนในประเทศไทยแข็งแกร่งขึ้น ประกอบกับในโอกาสครบรอบ 25 ปีของ สพส.ในปี 2556 นี้ ทาง สพส.จึงได้จัดกิจกรรมและโครงการอันเป็นประโยชน์มากมาย อาทิ อุทยานการเรียนรู้อุตสาหกรรมสนับสนุน สัปดาห์อุตสาหกรรมสนับสนุน กิจกรรมมหกรรมเครื่องจักรกล และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสนับสนุน เป็นต้นโดยตลอดเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีการเปิดตัวอุทยานการเรียนรู้อุตสาหกรรมสนับสนุนขึ้น เพื่อเป็นแหล่งรวมความรู้ใหม่ ให้ผู้สนใจได้เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมสนับสนุน ซึ่งเป็นรากฐานของอุตสาหกรรมไทย โดยผู้เข้าร่วมงานสามารถชมนิทรรศการ พร้อมสัมผัสชิ้นงานตัวอย่าง ชมสาธิตการทำงานของเครื่องจักรการผลิต และสามารถเรียนรู้ประสบการณ์จริงในโรงงานต้นแบบได้ โดยอุทยานฯ จะถูกแบ่งออกเป็น 5 สถานี (ได้แก่ สถานีที่ 1 ศูนย์เรียนรู้อุตสาหกรรมสนับสนุน สถานีที่ 2 จากแร่เหล็กสู่รถยนต์ สถานีที่ 3 กระบวนการขึ้นรูปโลหะ/ พลาสติก สถานีที่ 4 กระบวนการหล่อ หลอม ชุบแข็ง และสถานีที่ 5 จากเม็ดพลาสติกสู่ผลิตภัณฑ์)
ทั้งนี้ งานอุทยานการเรียนรู้อุตสาหกรรมสนับสนุน จัดขึ้นตลอดปี 2556 ตั้งแต่เวลา 08.30 — 17.00 น. ณ อาคารพันธมิตรอุตสาหกรรมสนับสนุน สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซอยตรีมิตร ถนนพระราม 4 คลองเตย กรุงเทพฯ สำหรับผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมชมงานดังกล่าว สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 023678106 หรือเข้าไปที่ http://bsid.dip.go.th