ศศินทร์เผยธุรกิจความงาม&สุขภาพอนาคตสดใสหลังเปิดAEC กระตุ้นผู้ประกอบการไทยค้นหาจุดเด่น&จุดด้อยรับมือตลาดอาเซียน

ข่าวทั่วไป Tuesday May 14, 2013 09:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศศินทร์ เผยหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ธุรกิจความงามและสุขภาพของไทย มีอนาคตสดใส เนื่องจากผู้บริโภคในอาเซียนเชื่อมั่นฝีมือและไว้วางใจในคุณภาพ ย้ำราคาและค่าบริการถูกกว่าสิงคโปร์ มั่นใจลูกค้าไหลเข้ารักษาโรงพยาบาลไทย แนะผู้ประกอบการเร่งพัฒนาค้นหาจุดเด่นและจุดด้อย รวมทั้งพัฒนาศักยภาพคนเพื่อรับมือการแข่งขันของตลาดอาเซียน ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin) เปิดเผยว่า อีกไม่กี่ปีข้างหน้าแต่ละประเทศในภูมิภาคนี้จะรวมตัวกันเป็นกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ประโยชน์ของการรวมตัวกันในครั้งนี้จะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศสมาชิกเพื่อเจรจาต่อรองกับกลุ่มประเทศที่ใหญ่กว่า เพราะการรวมตัวกันจะทำให้ประชาคมอาเซียนมีความเป็นปึกแผ่น เมื่อออกไปแข่งขันกับนานาประเทศทำให้มีอำนาจในการต่อรองสูงขึ้น นอกจากนี้แล้วยังเป็นการทำให้กลุ่มประเทศในสหรัฐอเมริกา ยุโรป แอฟริกาฯลฯ สนใจเข้ามาลงทุน ทำธุรกิจต่างๆในภูมิภาคนี้เพี่มขึ้น สำหรับประเทศไทยแล้ว การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นการเพิ่มศักยภาพของประเทศให้เป็นศูนย์กลางทางโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้า จึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมเนื่องจากในอนาคตนั้นจะมีนักธุรกิจและนักลงทุนเดินทางเข้าสู่อาเซียนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม บางธุรกิจไม่จำเป็นต้องขยายตลาดไปสู่อาเซียนแค่เปิดให้บริการในประเทศไทยก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จ แต่จะต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ให้ดีก่อน สำหรับธุรกิจที่มีความพร้อมก็สามารถขยายธุรกิจไปสู่กลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน ถือว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่เหมาะกับการลงทุน แต่ก็ต้องศึกษาตลาดของแต่ละท้องถิ่นอย่างละเอียด เนื่องจากแต่ละประเทศมีพื้นฐานด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ดร.กฤษติกา กล่าวถึงกลยุทธ์ทางการตลาดสำหรับการบุกตลาดอาเซียนว่า เนื่องจากสิ่งแวดล้อมทางการตลาดไม่เหมือนกัน พฤติกรรมผู้บริโภคที่แตกต่าง รวมทั้งเศรษฐกิจของแต่ละท้องถิ่นที่มีส่วนในการกำหนดการบริโภคต่างกันอย่างสิ้นเชิง ผู้ประกอบการและนักการตลาดต้องมีความพยายามในการบุกตลาดอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญควรมีการสร้างสายสัมพันธ์ทั้งกับคู่ค้า สื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีส่วนสนับสนุนในการดำเนินธุรกิจแต่ละประเทศ ดังนั้น เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนมีโอกาสการเรียนรู้ด้วยตัวเองจากประสบการณ์จริง ทางสถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ จึงร่วมกับหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ จัดโครงการ Insight AEC โดยการจัดทริปพานักลงทุนไปยังประเทศต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและศึกษามุมมองในการทำธุรกิจกับพันธมิตรในประเทศนั้นๆ โดยจะจัดกิจกรรมในลักษณะ Road Show เพื่อเรียนรู้ชีวิตของคนในแต่ละท้องถิ่น เชื่อว่าจะเป็นการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจและความสัมพันธ์ที่ดีทางการค้าได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ก่อนการเดินทางเข้าร่วมกิจกรรม Insight AEC Road Show มีการปฐมนิเทศให้นักลงทุนที่ร่วมเดินทางเตรียมความพร้อมและแนะนำวิธีเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการลงทุน นอกจากนี้แล้วธุรกิจที่จะบุกตลาดอาเซียนต้องพัฒนาสินค้าและบริการให้มีมาตรฐานที่ดี รวมทั้งฝึกอบรมพนักงานให้มีความพร้อมที่จะให้บริการ ธุรกิจที่ต้องพึ่งพาแรงงานจากคน จำเป็นต้องมีความรู้และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับสินค้าและบริการเป็นอย่างดี ควรกำหนดนโยบายการบริการ ให้พนักงานทั้งคนไทยและต่างชาติทำหน้าที่ด้วยความมีคุณธรรมและจริยธรรม สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความสวยความงาม คาดว่าจะมีอนาคตที่สดใสเพราะที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นชาติที่มีฝีมือและความสามารถในธุรกิจดังกล่าว เนื่องจากมีจุดเด่นด้านการบริการ เมื่อนำมารวมกับฝีมือที่ไม่เป็นรองใคร ทำให้ได้รับการยอมรับจากนานาชาติไม่ยากนัก โดยเฉพาะอาชีพช่างทำผม ซึ่งการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เชื่อว่าธุรกิจดังกล่าวจะมีโอกาสบริการลูกค้าในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ธุรกิจความงามและสุขภาพที่ต้องการจะขยายตลาดไปสู่ AEC จะต้องค้นหาจุดเด่นของตนเองว่ามีอะไรพิเศษที่สามารถดึงดูดลูกค้าได้มากกว่าคู่แข่ง ต้องรู้ว่าตนเองเก่ง ถนัด และเชี่ยวชาญทางด้านใด แล้วนำสิ่งเหล่านี้สร้างความประทับใจให้กับลูกค้า ธุรกิจที่จะก้าวสู่ AEC ได้อย่างยั่งยืนต้องรู้ว่าตนเองมีจุดอ่อนด้านใด แล้วพยายามแก้ไขและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มิเช่นนั้นจุดด้อยจะสร้างปัญหาในอนาคตได้ สำหรับการเตรียมพร้อมสู่ตลาดอาเซียนก็คือเรื่องคน ต้องมีการฝึกอบรมพนักงานให้มีความเชี่ยวชาญในทุกเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะฝีมืออย่างเดียวต้องมีความพร้อมให้บริการลูกค้าในระดับนานาชาติได้ มีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพ ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการธุรกิจ การเปิดสาขาในต่างประเทศควรมีการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ หากยังไม่พร้อมด้านเงินทุนก็ยังไม่ควรขยายตลาดสู่อาเซียน แต่สามารถพัฒนาตัวเองเพื่อรับมือกับลูกค้าชาติต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเดินทางเข้า-ออกในอาเซียนปีละหลายล้านคน คนเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นเป้าหมายธุรกิจความสวยงามและสุขภาพ ดร.กฤษติกา ให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงธุรกิจด้านสุขภาพว่า ที่ผ่านมาผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียนมีความเชื่อมั่นและไว้วางใจด้านการรักษากับแพทย์ไทย ที่มีความสามารถทางการรักษา และมีราคาถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบชาติอื่น ๆ รวมทั้งการบริหารด้านสาธารณสุขของไทยนั้นอยู่ในระดับแนวหน้าของภูมิภาค ทั้งนี้คู่แข่งของไทยคือสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม หลังจากเปิด AEC จะมีผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการด้านสุขภาพในโรงพยาบาลของไทยเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ใช่เฉพาะคนรวยและผู้สูงอายุที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คนกลุ่มนี้ต้องการรักษากับแพทย์ที่เก่งและโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานระดับสากล อีกกลุ่มหนึ่งที่จะเข้ามาคือกลุ่มผู้ใช้แรงงาน จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นและต้องการรับบริการด้านสาธารณสุขด้วยเช่นกัน เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านโรคติดต่อร้ายแรง รัฐบาลไทยต้องเปิดกว้างเพื่อให้สิทธิประโยชน์ด้านการรักษากับกลุ่มผู้ใช้แรงงานเช่นเดียวกัน “ที่ผ่านมามีผู้บริโภคและผู้ที่รักสุขภาพเดินทางมารักษากับโรงพยาบาลในเมืองไทยไม่น้อย ในอนาคตธุรกิจเกี่ยวกับโรงพยาบาลและสุขภาพต้องขยายการให้บริการเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าในภูมิภาคนี้ ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในธุรกิจดังกล่าวต้องให้ความสำคัญกับนโยบายการหล่อหลอมบุคลากรในองค์กรให้มีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพ การทำงานบริการจะต้องสื่อสารทั้งกายและใจ เพื่อสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องการขยายไปยังประเทศในแถบอาเซียน จะต้องรักษามาตรฐานและคุณภาพเป็นที่ยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือเล็กจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการบริการและคุณภาพอย่างต่อเนื่อง”ดร.กฤษติกากล่าว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศิริลักษณ์ สุจริตตานนท์ (แอน) Asst. Chief of Public Relations โทร 02-218- 3853-4 E-mail: sirilak.sujarittanonta@sasin.edu แพรวทิพย์ ด่านวราวิจิตร PR&Marketing Coordinator โทร. 02-218- 4001-9 ต่อ 188 E-mail:praewthip.danwarawijitr@sasin.edu

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ