กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--กรมการแพทย์
กรมการแพทย์ จัดกิจกรรมเปิดบ้าน (Open House) สถาบันโรคทรวงอก โชว์ศักยภาพการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจทางสายสวนหรือ TAVI ช่วยลดอัตราเสี่ยงหลังการผ่าตัดและใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นน้อยกว่า การผ่าตัดใหญ่ และการใช้เทคโนโลยีเครื่อง Magnetic Resonance Imaging หรือ MRI ในการตรวจวินิจฉัย โรคหัวใจและหลอดเลือด
(10 พฤษภาคม 2556) ที่สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ จังหวัดนนทบุรี แพทย์หญิงวิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวในกิจกรรมเปิดบ้าน (Open House) สถาบันโรคทรวงอก ว่าปัจจุบันสถาบันโรคทรวงอกได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีในการผ่าตัดรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดไปมาก จากการผ่าตัดใหญ่ที่ใช้เวลาในการผ่าตัดนาน มาเป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็กหรืออาจไม่มีแผลผ่าตัดเลย โดยใช้เครื่องมือในการรักษาใส่ผ่านไปทางหลอดเลือด (Catheter based intervention) การรักษาด้วยวิธีนี้จะทำในห้องผ่าตัดไฮบริด (Hybrid operating room) ที่มีการผสมผสานของการผ่าตัดแบบมาตรฐาน ร่วมกับการใช้เครื่องมือในการรักษา ใส่ผ่านไปทางหลอดเลือดที่กำลังเป็นที่นิยม ซึ่งจะต้องใช้ร่วมกับเครื่องแปลงสัญญาณภาพ ที่เรียกว่าเครื่องเอกซเรย์ตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือด ( Fluoroscopy) เข้ามาช่วยในการใส่สายเข้าไปทางหลอดเลือด ข้อเด่นของห้องผ่าตัดไฮบริดคือเป็นการนำข้อดีของห้องผ่าตัดและห้องสวนหัวใจมารวมกัน ผู้ป่วยจะมีอัตราเสี่ยงจากการรักษาลดลงและระยะเวลาในการพักฟื้นน้อยกว่ามาก กรณีที่มีปัญหาแทรกซ้อนเกิดขึ้นสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ทันที
นายแพทย์ทวีศักดิ์ โชติวัฒนพงษ์ หัวหน้ากลุ่มงานศัลยศาสตร์ สถาบันโรคทรวงอก กล่าวเสริมว่า การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจทางสายสวนหรือที่เรียกว่า TAVI (Transcatheter Aotic Valve Implantation) นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของการรักษาโดยใช้เครื่องมือในการรักษาใส่ผ่านไปทางหลอดเลือด คือการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวการณ์ตีบรุนแรงของลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายกับหลอดเลือดแดงใหญ่ ที่นำเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่เรียกว่าลิ้นหัวใจเอออติก (aortic valve ) ซึ่งไม่สามารถรับการรักษาโดยการผ่าตัดได้ด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น อายุมากหรือมีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วยหลายโรค ทำให้สภาพร่างกายไม่สามารถทนต่อการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องดมยาสลบและการใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียมระหว่างผ่าตัดได้การรักษาตามหลักการของ TAVI ทำได้โดยใส่ลิ้นหัวใจเทียมผ่านหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ เช่น หลอดเลือดแดงที่ขาและแขน หรือเจาะผ่านผิวหนังบริเวณยอดหัวใจโดยไม่ต้องทำการผ่าตัดทรวงอกระหว่างการผ่าตัดแพทย์จะสามารถดูตำแหน่งของลิ้นหัวใจที่จะวางผ่านเครื่อง Fluoroscope ที่มีอยู่ในห้องผ่าตัดไฮบริด
ข้อดีของการผ่าตัด...
ข้อดีของการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจทางสายสวนหรือ TAVI มีหลายอย่างคือผู้ป่วยไม่ต้องได้รับการผ่าตัดใหญ่ ไม่ต้องใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม การเสียเลือดจากการผ่าตัดน้อยกว่า การพักฟื้นเร็วโดยประมาณ 2-3 วัน สามารถกลับบ้านได้ ผู้ป่วยจะมีเพียงแผลเล็ก ๆ บริเวณขาหนีบทั้ง 2 ข้าง หรือบริเวณหน้าอกด้านซ้ายเท่านั้น ในส่วนของประสิทธิภาพของการรักษาโดยวิธีนี้ จากการศึกษาแบบสุ่มจัดทำในต่างประเทศพบว่า TAVI ให้ผลการรักษาไม่ด้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดในกลุ่มคนไข้ที่มีอัตราเสี่ยงสูงจากการผ่าตัดแบบปกติ และได้ผลดีกว่าการรักษาโดยการใช้ยาเพียงอย่างเดียว
ด้านแพทย์หญิงพรวลี ปรปักษ์ขาม นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม กล่าวว่าการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยเครื่อง Magnetic Resonance Imaging หรือ MRI เป็นวิธีใหม่อีกวิธีหนึ่ง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีราคาแพง ปัจจุบันมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นการตรวจวินิจฉัยที่ให้ความถูกต้องและแม่นยำสูง เมื่อผู้รับการตรวจเข้าไปอยู่ภายใต้สนามแม่เหล็กไฟฟ้า โปรตอนในร่างกายจะโดนสนามแม่เหล็กของเครื่อง MRI ดึงดูดให้วางตัวไปในทิศทางเดียวกัน เครื่อง จะส่งสัญญาณคลื่นวิทยุที่มีความถี่จำเพาะเข้าไปกระตุ้นระบบอวัยวะที่จะตรวจ เมื่ออวัยวะนั้น ๆ ถูกกระตุ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงระดับพลังงานตามขบวนการทางฟิสิกส์ที่เรียกว่า การกำทอน (Resonance) หลังจากหยุดกระตุ้นโปรตอนภายในร่างกายจะคายพลังงานและจะมีอุปกรณ์รับสัญญาณที่ได้ออกมา จากนั้นแปลงเป็นสัญญาณภาพบนจอภาพ ซึ่งจะให้ความแตกต่างของเนื้อเยื่อได้ดี โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องได้รับรังสีเอ็กซ์ (x-ray) และสารทึบรังสีเหมือนการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ สามารถสร้างภาพได้ทุกระนาบหรือทุกแนวโดยผู้ป่วยไม่ต้องเปลี่ยนท่า สามารถสร้างภาพสามมิติทำให้มองเห็นภาพของหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างชัดเจน ทำให้แพทย์ได้รู้ถึงรายละเอียดของหัวใจ ได้แก่ ลิ้นหัวใจทุกลิ้น เยื่อหุ้มหัวใจ ผนังกั้นห้อง กล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อรู้การบีบตัวว่าปกติหรือไม่ สามารถมองเห็นกล้ามเนื้อหัวใจในส่วนที่เป็นแผลเป็น (scar) หลังจากเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย ซึ่งจะช่วยแพทย์เลือกแนวทางการรักษาได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถเห็นหลอดเลือดอื่นด้วย เช่น หลอดเลือดที่ไปปอด หลอดเลือดที่คอ หลอดเลือดแดงใหญ่ หลอดเลือดไต เป็นต้น โดยไม่จำเป็นต้องฉีดสี จึงช่วยลดโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนจากการฉีดสีลง มีประโยชน์มากสำหรับแพทย์ในการวินิจฉัยโรค เพื่อนำมา ใช้ในการรักษาและติดตามผลการรักษาและมีประโยชน์อย่างมากในการตรวจผู้ป่วยเด็ก เนื่องจากไม่มีอันตรายจากรังสีที่เกิดจากการใช้เอกซเรย์