กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--บมจ.ฐิติกร
เดินหน้าขยายเครือข่ายต่อเนื่อง หลังเปิดสาขาใหม่แล้ว 3 แห่ง จะเปิดเพิ่มอีก 7 แห่ง ให้ครบ 10 แห่ง ในปี 2556
เชื่อมั่น สามารถขยายสินเชื่อตามเป้า 10% ในปีนี้
บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อรถจักรยานยนต์รายใหญ่ที่สุดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รายงานผลประกอบการ ประจำไตรมาสที่ 1/2556 รายได้รวม 964 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.5% ในขณะที่ยอดสินเชื่อเติบโต 2.6% มาเป็น 8,869 ล้านบาท
นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ TK เปิดเผยถึงผลประกอบการ ประจำไตรมาสที่ 1/2556 ว่ายอดรายได้และสินเชื่อ สามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ตลาดรถจักรยานยนต์ในไตรมาสแรก มียอดขาย 548,965 คัน เพิ่มขึ้น 5.98% ในขณะที่กำลังซื้อโดยรวม ยังคงเติบโตตามโครงการประชานิยมของรัฐบาล ซึ่งเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อโดยรวมของประชาชนทั่วประเทศ กอร์ปกับผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ได้แนะนำรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ ๆ สู่ท้องตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลประกอบการของ TK ได้รับผลดีจากการเติบโตของตลาดโดยตรง
“นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีของ TK ที่ไตรมาสแรก สามารถสร้างสถิติกำไรสุทธิสูงสุดและเติบโตต่อเนื่องติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 5 หลังจากน้ำท่วมใหญ่ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 หากไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติ TK จะสร้างสถิติกำไรโตต่อเนื่อง 7 ปีซ้อน และสถิติกำไรสุทธิติดต่อกันเป็นปีที่ 4” นางสาวปฐมากล่าว
นางสาวปฐมากล่าวว่าเพื่อรักษาอัตราการเติบโตตลอดปีนี้ TK ได้ขยายสาขาไปแล้ว 3 แห่ง และภายในปีนี้ จะเปิดเพิ่มอีก 7 สาขา ทำให้เครือข่ายสาขา TK มีทั้งสิ้น 94 สาขาใน 49 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งการขยายเครือข่ายถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างอัตราการเติบโตของ TK ให้ได้ตามเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 10% ภายในปีนี้
“ถึงแม้ว่าเราจะให้ความสำคัญกับการขยายสาขาไปต่างจังหวัด บริษัทก็ยังคงให้ความสำคัญกับตลาดกรุงเทพฯ เช่นกัน ซึ่งสัดส่วนรายได้จากตลาดกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน สูงถึงกว่า 30% ของรายได้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์รวม แต่โครงสร้างตลาดรถจักรยานยนต์ของประเทศไทยนั้น ประมาณ 80% มาจากตลาดต่างจังหวัด เราจึงต้องการจะเร่งการเติบโตไปที่ต่างจังหวัดเพื่อให้สัดส่วนตลาดในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นเป็น 80% ตามโครงสร้างของตลาด และเศรษฐกิจในต่างจังหวัดซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว” นางสาวปฐมา กล่าว
ทางด้านนายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ TK กล่าวเพิ่มเติมว่าขณะนี้ TK พร้อมกู้เงินระยะยาวหรือออกหุ้นกู้จากแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยมีโอกาสลดลง ซึ่งหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรป ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงไปแล้ว
“รัฐบาลไทยให้ความสำคัญเรื่องอัตราดอกเบี้ย TK มีความพร้อมที่จะได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยขาลง” นายประพลกล่าวและเสริมว่าจุดแข็งของ TK มี D/E ต่ำเพียง 1.45 เท่า นอกจากความพร้อมในการออกเครื่องมือทางการเงินแล้ว การได้รับเครดิตเรตติ้งจาก TRIS ที่ A- ทำให้ TK มีต้นทุนดอกเบี้ยพิเศษกว่าบริษัทอื่น โดยปัจจุบัน เงินกู้และหุ้นกู้ดอกเบี้ยคงที่อายุ 3 — 5 ปีของ TK เฉลี่ยอยู่ที่ต่ำกว่า 4%