กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--ไอเดียเวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์
สสส. สนับสนุน มช. รพ.สารภี พลิกโฉมใหม่สุขภาพไทย ชู สารภีต้นแบบ “อำเภอสร้างสุข” ผสานเครือข่ายTrueMove H 3G+ และเทคโนโลยีจาก Google พัฒนาแอปพลิเคชั่น SaraphiHealth สร้างการจัดการระบบสุขภาพครั้งแรกของไทย สำรวจข้อมูลสุขภาพแบบเรียลไทม์ ตั้งเป้า 3 ปี ลดเจ็บป่วยเรื้อรังได้ 20% ฟื้นฟูผู้ป่วยเรื้อรังได้ 60%
เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น Google โรงพยาบาลสารภี และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แถลงข่าวโครงการ “อำเภอสร้างสุข” การจัดการสุขภาพมิติใหม่ด้วยเครือข่าย TrueMove H 3G+ และเทคโนโลยีจาก Google ครั้งแรกของประเทศไทย พร้อมการถ่ายทอดสดการเก็บข้อมูลสุขภาพภาวะชุมชนจาก อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ผ่านเครือข่าย TrueMove H 3G+ และโปรแกรมสื่อสาร Google+ แฮงค์เอ้าท์ มาที่งานแถลงข่าว
โดย ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ปัจจุบันโรคเรื้อรังเป็นปัญหาสาธารณสุขลำดับต้นๆ และมักมีอาการแทรกซ้อนทำให้เกิดเป็นผู้ป่วยติดเตียงในชุมชนจำนวนมาก ในขณะที่สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรอยู่ที่ แพทย์ 1 คน ต่อประชากร 2,728 คน สสส. จึงมีแนวคิดจัดทำโครงการ “อำเภอสร้างสุข” เป็นการพัฒนาต้นแบบการทำงานของเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาเชื่อมโยงกับระบบบริการสุขภาพ ช่วยจัดการระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ นำไปสู่การลดภาระโรค โดยที่ชุมชนสามารถเรียนรู้และวางแผนร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด โดยมีอำเภอสารภีเป็นต้นแบบ และเตรียมดำเนินการในอีก 2 พื้นที่คือ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ และ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ร่วมเป็นพื้นที่ต้นแบบเพื่อให้พื้นที่อำเภออื่นๆ ได้ร่วมเรียนรู้
“โครงการอำเภอสร้างสุข ถือเป็นการยกระดับการบริการสาธารณสุขครั้งแรกของไทย ที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนากลไกระดับเขตบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภายใน 3 ปี หลังจากการสร้างข้อมูลสุขภาพชุมชนสำเร็จ จะช่วยลดภาระโรคจากการเจ็บป่วยเรื้อรัง 20% เกิดการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่างเป็นระบบอย่างน้อย 60% ของพื้นที่ นอกจากนี้จะเกิดศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการสุขภาวะครอบคลุมทุกมิติในทุกพื้นที่ไม่น้อยกว่า 5 ตำบล” ทพ.กฤษดา กล่าว
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การสนับสนุนโครงการอำเภอสร้างสุขสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของกลุ่มทรู ที่จะนำเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีเครือข่าย 3G ที่ใหญ่ที่สุดและครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย ของทรูมูฟ เอช มาใช้พัฒนาด้านการศึกษา สาธารณสุข ชุมชน และสังคม โดยสนับสนุนซิม 3G+ และ data package เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารและสนับสนุนการจัดเก็บข้อมูลสุขภาพแบบ realtime นอกจากนี้ ทรูยังได้มอบ แอร์การ์ด 3G และ data package อีก 13 ชุด ให้แพทย์ของโรงพยาบาลสารภี สามารถให้คำปรึกษาทางการแพทย์แบบ real time แก่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เครือข่ายทั้ง 12 แห่งของโรงพยาบาลสารภี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ 3G+ เพื่อโรงเรียนและชุมชที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งได้มอบชุดอุปกรณ์เชื่อมต่อสัญญา 3G+ พร้อมแพ็กเกจใช้งานให้แก่โรงเรียนและสาธารณสุขชุมชนในถิ่นทุรกันดารแล้วร่วม 2,000 ชุด แบ่งเป็นโรงเรียนกว่า 900 แห่ง และ รพ.สต. รวมถึงแพทย์ในโรงพยาบาลที่ดูแล รพ.สต.เครือข่ายอีก 152 แห่งทั่วประเทศ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของโรงพยาบาล ช่วยให้ประชาชาชนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงการรักษาเบื้องต้นมากขึ้น โดยไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายการเดินทาง
น.ส.พรทิพย์ กองชุน หัวหน้าฝ่ายการตลาด กูเกิลประเทศไทย กล่าวว่า Google มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่โครงการได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ในการนำเทคโนโลยีกูเกิลไปใช้ในการจัดการระบบสุขภาพ เพื่อยกระดับสุขอนามัยของชุมชน เช่น Google แผนที่ ที่สามารถนำไปเชื่อมโยงกับแอปพลิเคชันเก็บข้อมูลสาธารณสุขของพื้นที่ต่างๆ สามารถแสดงผลในมิติของภูมิศาสตร์สารสนเทศ นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือติดต่อสื่อสาร Google+ แฮงเอ้าท์ ที่ให้ทุกคนได้พูดคุยแบบเห็นหน้ากันได้แบบเรียลไทม์ โดยโครงการนำไปใช้ในการเรียนรู้ ติดตามผล และการให้คำปรึกษา แนะนำด้านสุขอนามัยไปยังชุมชน ที่ทำได้ทุกที่ทุกเวลาและทุกอุปกรณ์
รศ.ดร.ธนารักษ์ สุวรรณประพิศ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า มช. ได้นำ กูเกิล แผนที่มาพัฒนาเป็นแอปพลิเคชัน “ข้อมูลสุขภาพสารภี” (SaraphiHealth) ทำให้สามารถระบุตำแหน่งพื้นที่หมู่บ้าน และชุมชุนที่ดูแล รวมทั้งสามารถเห็นสภาพพื้นที่อำเภอสารภีผ่าน “สตรีทวิว แอปพลิเคชั่น” ใช้งานง่าย โดยโครงการได้จัดอบรมให้แก่เยาวชน และอาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่สามารถเก็บข้อมูลสุขภาวะของประชาชนในอำเภอสารภีได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดการเก็บข้อมูลดังกล่าว โดยข้อมูลที่ได้จะถูกรวบรวมมาจัดเก็บและประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ แบบ Realtime ลดความซ้ำซ้อน ความผิดพลาด ลดต้นทุนการบันทึกข้อมูลลงแบบสอบถามกระดาษ และสามารถเรียกใช้ข้อมูลได้ทันที จากเดิมที่ข้อมูลจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยมาโรงพยาบาลและรวบรวมไว้ในเอกสารแต่ไม่ถูกนำมาประมวลผล โดยมีเพียงประวัติเฉพาะบุคคลการ แต่แอปพลิเคชั่น SaraphiHealth จะมีข้อมูลที่ครอบคลุมเชื่อมโยงไปถึงประวัติของบุคคลภายในครอบครัว ทำให้พยากรณ์โรคของคนในครอบครัว หรือชุมชนนั้นๆ ได้
นพ.จรัส สิงห์แก้ว ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสารภี จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบัน อำเภอสารภี มีผู้ป่วยติดเตียง จำนวน 627คน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น การสร้างข้อมูลสุขภาวะชุมชนจะนำไปสู่การนำปัญหามาเป็นตัวตั้งและจัดบริการสุขภาพให้ตรงกับสภาพปัญหาในชุมชน เพราะบริบทของแต่ละชุมชนมีความแตกต่างกันออกไป อีกทั้งยังทำให้มีข้อมูลที่ครอบคลุม เช่น คนในครอบครัวมีความเสี่ยงเจ็บป่วยด้วยโรคทางกรรมพันธุ์หรือไม่ ความเสี่ยงที่จะเกิดจากการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า หรือสภาพสิ่งแวดล้อม ที่พักอาศัย ซึ่งเป็นเรื่องของชีวอนามัย ก็จะถูกรวบรวมไว้และนำไปสู่การประสานงานกับทุกภาคส่วน เช่น อบต. อบจ. เพื่อจัดทั้งบริการสุขภาพ การรณรงค์ ป้องกันปัญหาที่ตรงจุด ซึ่งการมีข้อมูลที่เที่ยงตรงทำให้เกิดการทำงานได้ทั้งเชิงรับ และเชิงรุก สามารถวางแผนจัดลำดับความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง
บรรยายภาพ จากซ้าย
1. น.พ.จรัส สิงห์แก้ว ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสารภี อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
2. รศ.ดร. เอกรัฐ บุญเชียง หัวหน้าภาควิชา วิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
3. ดร.กันทิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการด้านสื่อสารองค์กร ประชาสัมพันธ์การตลาด และกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม บมจ.ทรู คอร์เปอเรชั่น
4. ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
5. คุณพรทิพย์ กองชุน หัวหน้าฝ่ายตลาด กูเกิล ประเทศไทย
6. รองศาสตราจารย์ วิลาวัลย์ เสนารัตน์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
7. นพ. ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ
8. รศ.ดร. ธนารักษ์ สุวรรณประพิศ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่