กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
นักวิชาการ ม.อ. ห่วงนักท่องเที่ยวนำเชื้อรา “ไคทริด” ลามกระทบ “กบ” บนเกาะตะรุเตา หลังทำกบเกือบทั่วโลกสูญพันธุ์ เผยหลังสำรวจและพบเชื้อในคางคกป่าที่สงขลา เร่งเดินหน้าผนึกความร่วมมือกับสถาบันจากอังกฤษให้ความรู้เจ้าหน้าที่ นักศึกษา นักท่องเที่ยว และหาวิธีการตรวจเชื้อก่อนข้ามมาทำลายตัวเชื่อมโยงสายใยอาหารของระบบนิเวศของเกาะ
ดร. ศันสรียา วังกุลางกูร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) (Dr.Sansareeya Wangkulangkul, Department of Biology, Faculty of Sciences, Prince of Songkla University) เปิดเผยว่า ในปัจจุบัน นักชีววิทยากำลังให้ความสนใจกับการระบาดของเชื้อราสายพันธุ์เก่าแก่ชนิดหนึ่ง ชื่อ “ไคทริด” (Chytrid) ซึ่งมีผลกับสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น กบ ที่ได้ทำให้เกิดการตายของกบทั่วโลก ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ทั่วโลกมีเชื้อราไคทริดประมาณ 1,000 สายพันธุ์ทั้งในน้ำและในพื้นที่ชื้น โดยเชื้อราไคทริด ชนิด Batrachochytrium dendrobatidis หรือเรียกสั้น ๆ ว่า BD สามารถเติบโตได้ดีบนผิวหนังกบ ทำให้เกิดการติดเชื้อในกบมากกว่า 6,000 ชนิดทั่วโลก และทำให้มีลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วรุนแรงถึงสูญพันธุ์ โดยการระบาดนี้อาจกินเวลาเพียง 2-3 สัปดาห์เท่านั้น เนื่องจากสปอร์ของเชื้อราสามารถติดไปกับดินใต้พื้นรองเท้า หรือบนเสื้อผ้า อุปกรณ์ของนักท่องเที่ยว จึงมีการแพร่กระจายของเชื้อราชนิดนี้ไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ เมื่อไม่นานมานี้ นักวิชาการของ ม.อ. ร่วมกับ Dr. Judit Voros จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ฮังการี ตรวจพบเชื้อรา “ไคทริด” บนผิวหนังคางคกแคระบนเขาคอหงส์ ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งเป็นการพบเชื้อราไคทริดในธรรมชาติเป็นครั้งแรกในไทย ประกอบกับประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้จากการท่องเที่ยว และมีนักท่องเที่ยวเดินทางทั่วประเทศจำนวนมาก จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของเชื้อราชนิดนี้
ดังนั้น ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. จึงร่วมมือกับสถาบันฮาร์ริสัน ประเทศอังกฤษ โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนรัฟฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ได้ดำเนินการสำรวจเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อราดังกล่าวในแหล่งท่องเที่ยวภาคใต้ โดยมุ่งสำรวจที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล ซึ่งจากการสุ่มตรวจเชื้อราไคทริด ยังไม่พบการติดเชื้อหรืออาการที่ส่อให้เห็นว่า มีการติดเชื้อของกบบนเกาะตะรุเตา แต่ยังคงต้องเฝ้าติดตามต่อไป โดยได้จัดอบรมเจ้าหน้าที่ในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา รวมถึงนักศึกษา เพื่อให้มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอนุกรมวิธาน ชีววิทยา นิเวศวิทยา ของกบ รวมทั้งมีความรู้ในเบื้องต้นเกี่ยวกับการสังเกตและติดตามโอกาสการติดเชื้อราไคทริด ชนิด Batrachochytrium dendrobatidis บนผิวหนังกบ เนื่องจากเห็นว่า อุทยานแห่งชาติตะรุเตาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาสม่ำเสมอ จึงมีความเสี่ยงต่อการนำสปอร์ของเชื้อราไคทริดเข้ามาโดยไม่ตั้งใจ
ขณะเดียวกัน นางสาวมาศสุภา สังวะระ นักศึกษาภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ กำลังพัฒนาการตรวจเชื้อราบนผิวหนังกบด้วยการเพาะเชื้อในจานเพาะเลี้ยง โดยมี ดร.ศันสรียา วังกุลางกูร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และรองศาสตราจารย์ ดร. เสาวลักษณ์ พงษ์ไพจิตร จากภาควิชาจุลชีววิทยา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม ซึ่งการตรวจด้วยวิธีดังกล่าว มีต้นทุนถูกกว่าการตรวจแบบเดิมที่ต้องใช้การตรวจด้วย DNA ที่ต้องใช้เครื่องมือราคาแพง ซึ่งหากประสบความสำเร็จ จะเป็นการแยกเชื้อราไคทริดบริสุทธิ์ด้วยการเพาะเชื้อได้เป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย