กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
สมาคมศูนย์ส่งเสริมธุรกิจยูโรเปียน-อาเซียน (อีเอบีซี) องค์กรที่ก่อตั้งขึ้นโดยการสนับสนุนของสหภาพยุโรป เพื่อเป็นเวทีของภาคธุรกิจโดยทำหน้าที่เสมือนหอการค้าของสหภาพยุโรปในประเทศไทย ประกาศสนับสนุนการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทยและสหภาพยุโรป (the Thailand — EU Free Trade Agreement) เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนา โดยเอฟทีเอจะช่วยให้ไทยมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งและขับเคลื่อนให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งอีเอบีซีพร้อมสนับสนุนให้ไทยและสหภาพยุโรป (อียู) เดินหน้าการเจรจาเพื่อนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดจากความตกลงที่จะจัดทำขึ้นดังกล่าว
ทั้งนี้ ผลงานวิจัยที่จัดทำและเผยแพร่โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เพื่อศึกษาถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไทยจะได้รับจากการทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า การเจรจาความตกลงฯ จะช่วยให้ไทยมีการเติบโตของจีดีพีสูงกว่าการที่ไทยจะไม่เข้าร่วมการเจรจา นอกจากนี้ ผลการศึกษาล่าสุดที่ทำขึ้นเพื่อนำเสนอต่อสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยยังชี้ให้เห็นว่า ในระยะสั้น เอฟทีเอจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 หรือ 950 ล้านยูโรต่อปี (ประมาณ 38,000 ล้านบาท) และจีดีพีของไทยจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.56
นายร๊อล์ฟ-ดีเตอร์ ดาเนียล ประธานสมาคมศูนย์ส่งเสริมธุรกิจยูโรเปียน-อาเซียน (อีเอบีซี)กล่าวว่า “อีเอบีซี มีสมาชิกประกอบด้วยบริษัทจากยุโรปที่เข้ามาลงทุนและทำการค้าในไทยในด้านต่างๆ มีปณิธานมุ่งสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยให้มีการเจริญเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ในฐานะของประธานสมาคมฯ และตัวแทนจากบริษัทยุโรป ผมมองว่า ธุรกิจยุโรปเป็นหนึ่งส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย โดยให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งและสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นประเทศที่สงบสุข มีศักยภาพและมีความมั่นคงและมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของบริษัทยุโรปที่เข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งเราได้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องที่จะแบ่งปันประสบการณ์และให้ความร่วมมือกับภาครัฐ โดยจัดทำข้อเสนอแนะทางด้านนโยบายและกฎระเบียบเพื่อนำเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเราเชื่อว่า การบรรลุในการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี ไทย-อียู จะมีส่วนในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาประเทศให้เจริญเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งจะช่วยส่งเสริมให้ทั้งสองภูมิภาคได้รับประโยชน์จากทำการค้าระหว่างกันมากยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยขยายการลงทุนของสหภาพยุโรปในภาคธุรกิจบริการของไทย และส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยและประชาชนชาวไทยโดยรวม”
โดยเอฟทีเอจะช่วยลดอุปสรรคที่มีต่อการลงทุนของสหภาพยุโรปในภาคธุรกิจบริการของไทย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจของไทย ซึ่งภาคธุรกิจบริการของไทยจำเป็นต้องมีการพัฒนา เนื่องจากประสิทธิภาพของแรงงานในธุรกิจนี้ยังไม่สูง และขาดแคลนการลงทุนเพื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ในภาคการผลิตซึ่งมีแรงงานคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 21 ของแรงงานทั้งหมดนั้นกลับสามารถสร้างจีดีพีได้เป็นสัดส่วนของจีดีพีทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 41 ขณะที่ภาคธุรกิจบริการมีแรงงานสูงถึงร้อยละ 41 แต่สามารถสร้างจีดีพีได้เพียงร้อยละ 501 เอฟทีเอจะช่วยให้ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและยกระดับภาคธุรกิจบริการของไทย พร้อมทั้งการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านแรงงาน รวมทั้งนำไปสู่การพัฒนาภาคธุรกิจบริการของไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลในเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง เพราะภาคธุรกิจบริการมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาการผลิตและการกระจายสินค้าให้มีประสิทธิภาพ อีเอบีซี มองว่าประโยชน์ของการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป มิใช่เป็นการเสริมสร้างความร่วมมือทางการค้าใหม่ แต่เป็นการสนับสนุนและส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน อันแน่นแฟ้นและยั่งยืนระหว่างไทยและสหภาพยุโรป จากการศึกษาของยูโรสแตท (EUROSTAT) พบว่า สหภาพยุโรปเป็นพันธมิตรคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย และไทยเป็นพันธมิตรคู่ค้ารายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของสหภาพยุโรปในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน2 และเมื่อพิจารณาจากดุลการค้าตลอดหลายปีที่ผ่านมา พบว่า ไทยอยู่ในภาวะเกินดุลเมื่อเทียบกับสหภาพยุโรป3 ดังนั้นความตกลงการค้าเสรีจะทำให้สินค้าและบริการของไทยมีโอกาสเจาะตลาดยุโรปได้มากยิ่งขึ้น นายดาเนียลกล่าวต่อไปว่า “อีเอบีซีไม่เห็นด้วยกับข้อโต้แย้งที่ว่า ไทยยังไม่มีความพร้อมในการแข่งขันกับสหภาพยุโรป ด้วยเหตุผลหลายประการ ประการแรก เอฟทีเอจะส่งเสริมให้มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจร่วมกันบนพื้นฐานของการทำการค้าและการลงทุนที่เป็นธรรม ไม่ใช่ในรูปแบบของการแข่งขันที่มุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ชนะแต่เพียงฝ่ายเดียว ประการที่สอง ด้วยข้อดีที่ระบบเศรษฐกิจไทยมีความยืดหยุ่น มีทั้งภาคอุตสาหกรรมการผลิต การบริการ และการเกษตรที่เข้มแข็ง ไทยจึงมีศักยภาพเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับประโยชน์จากการทำเอฟทีเอที่จะเปิดโอกาสให้มีการเข้าสู่ตลาดต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ประการที่สาม ปัจจุบันสหภาพยุโรปไม่ได้มีการเจรจาเฉพาะกับประเทศไทยเพียงรายเดียว แต่อยู่ระหว่างหรือได้มีการเจรจาในลักษณะเดียวกันกับประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนามควบคู่ไปด้วย หากการเจรจาของไทยไม่มีความคืบหน้า จะเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ไทยอาจตกอยู่ในสถานะการแข่งขันที่เสียเปรียบกับประเทศเพื่อนบ้านได้”
[1] “Middle Income Trap and the Thai Service Sector”, TDRI, February 2013
2 http://ec.europa.eu/trade/policy/countries-and-regions/regions/asean/
3 European Commission 2013
ความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและสหภาพยุโรปถือเป็นการดำเนินการที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นำมาซึ่งผลประโยชน์ร่วมกันและผลักดันให้ไทยเป็นประเทศที่เหมาะสมในการลงทุนและทำการค้าของธุรกิจต่างๆ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยให้มากขึ้นในระดับโลก การปรับเปลี่ยนแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจและการลงทุนของต่างชาติยังจะช่วยลดต้นทุน ขั้นตอนในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการที่ยุ่งยากซับซ้อน ส่งผลให้ไทยมีเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้น และก่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและทักษะเพื่อเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการในประเทศไทย “อีเอบีซีจึงมีความยินดีที่รัฐบาลไทยเดินหน้าขับเคลื่อนการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีให้ดำเนินต่อไปอย่างโปร่งใสและมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ซึ่งอีเอบีซีพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้กระบวนการเจรจาเอฟทีเอครั้งนี้บรรลุผลอย่างรวดเร็ว และในแนวทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย” นายดาเนียล กล่าวปิดท้าย เกี่ยวกับอีเอบีซี สมาคมศูนย์ส่งเสริมธุรกิจยูโรเปียน-อาเซียน หรืออีเอบีซี คือ องค์กรการค้าแห่งยุโรปที่มีปณิธานมุ่งส่งเสริมบรรยากาศการค้าและการลงทุน เพื่อสนับสนุนบริษัทจากยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจเอสเอ็มอีให้เข้ามาลงทุนและดำเนินธุรกิจในไทยเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการส่งเสริมการขยายการส่งออกและการลงทุนของบริษัทยุโรปสู่ไทย
สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อ
สมาคมศูนย์ส่งเสริมธุรกิจยูโรเปียน-อาเซียน (อีเอบีซี)
สายวรุณ ถิรนันท์รุ่งเรือง โทร: 02 670 0624
อีเมล communication@eabc-thailand.eu หรือเยี่ยมชม www.eabc-thailand.eu
อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์ (เอบีเอ็ม)
โทร: 02 252 9871
อีเมล hongsinunt.s@abm.co.th