กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวถึงโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการดำเนินงานตามพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ พ.ศ.2549 ว่า เนื่องจากรัฐบาลได้กำหนดนโยบายให้หน่วยงานของรัฐพัฒนาระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) ในการให้บริการประชาชนด้วยการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งหน่วยงานของภาครัฐเริ่มให้ความสำคัญกับการบูรณาการข้อมูล การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ประกอบกับ พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ พ.ศ.2549 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 5 มาตรา 6 และมาตรา 7 ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดทำแนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความปลอดภัยด้านสารสนเทศ และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้การบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานภาครัฐเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รวมทั้งสามารถให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลภายในประเทศและระหว่างประเทศได้อย่างมั่นคงปลอดภัย
กระทรวงไอซีทีจึงได้จัดให้มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการจัดทำแนวนโยบายและแนวปฏิบัติดังกล่าว สำหรับหน่วยงานที่ยังไม่ได้ดำเนินการ หรืออยู่ในระหว่างการปรับแก้ไขให้สามารถดำเนินการได้สอดคล้องตามกฎหมาย และเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป โดยตั้งเป้าหมายไปยังเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐทั้ง 36 หน่วยงานที่ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับกรมศุลกากรเพื่อทำการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ National Single Window (NSW) เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานของรัฐที่มีการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติที่มีความรู้ทางด้านเทคนิค และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
สำหรับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรการจัดทำแนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความปลอดภัยด้านสารสนเทศ และหลักสูตรการจัดทำแนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยอาศัยประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง แนวนโยบายและ แนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของหน่วยงานภาครัฐ พ.ศ. 2553 และเรื่อง นโยบายและแนวปฏิบัติในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2553 เพื่อเป็นกรอบในการศึกษา ซึ่งคาดว่าเมื่อหน่วยงานของรัฐมีแนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความปลอดภัยด้านสารสนเทศ และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นของตนเองแล้ว จะช่วยให้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานภาครัฐมีความมั่นคง ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และมีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยสามารถยกระดับการแข่งขันให้เท่าเทียบกับนานาประเทศต่อไปได้
ติดต่อ:
PR.MICT 02-141-6747