กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--บีโอไอ
บอร์ดบีโอไออนุมัติ 11 โครงการใหญ่ ลงทุนรวมกว่า 54,873 ล้านบาท โดยมีโครงการใหญ่ระดับหมื่นล้านบาท อาทิ โรงไฟฟ้าขนอม และสายการบินนกแอร์ ขณะที่ภาวะการลงทุนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมในช่วง 4 เดือนแรก ขยายตัวทั้งจำนวนโครงการ และมูลค่าเงินลงทุน ซึ่งทะลุ 5 แสนล้านบาทตั้งแต่ช่วงต้นปี
นายประเสริฐ บุญชัยสุขรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนจำนวน 11 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 54,873 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.บริษัทคอนทิเนนทัล มิลลิ่ง จำกัดได้รับส่งเสริมกิจการผลิตแป้งสาลี เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,227 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละประมาณ 180,000 ตัน ตั้งโครงการที่ จังหวัดสมุทรปราการ โดยโครงการนี้จะเป็นฐานการผลิตและส่งออกแป้งสาลีไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตขนมขบเคี้ยว
2. บริษัท เอเชียแปซิฟิกกลาสจำกัดได้รับส่งเสริมให้ขยายกิจการผลิตขวดแก้ว เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,728 บาท กำลังการผลิตปีละประมาณ 113,150 ตัน ตั้งโครงการที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยโครงการนี้จะผลิตขวดแก้วให้กับผู้ผลิตเครื่องดื่มในประเทศ
3. บริษัทไทย มาลายา กลาส จำกัดได้รับส่งเสริมให้ขยายกิจการผลิตขวดแก้ว เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,215 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละประมาณ 146,000 ตัน ตั้งโครงการที่จังหวัดสระบุรี โดยโครงการนี้จะเป็นการผลิตขวดแก้วเพื่อใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มประเภทต่างๆ ส่วนใหญ่จะจำหน่ายในประเทศ
4. นายฮิโรชิ โมริโน (MR. HIROSHI MORINO) ซึ่งจะจัดตั้งบริษัทขึ้นภายหลังจากนี้ ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตชิ้นส่วนระบบเกียร์อัตโนมัติ เงินลงทุนทั้งสิ้น 950 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดชลบุรี โดยโครงการนี้เป็นการลงทุนของผู้ผลิตชิ้นส่วนชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพื่อป้อนชิ้นส่วนให้กับค่ายรถยนต์ชั้นนำที่จะผลิตรถยนต์เพิ่มในอนาคต
5. บริษัท บางจาก โซลาร์เอ็นเนอร์ยี (นครราชสีมา) จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 900 ล้านบาท กำลังการผลิตไฟฟ้า 8 เมกะวัตต์ ตั้งโครงการที่จังหวัดนครราชสีมา โดยโครงการได้รับความเห็นชอบจาก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และองค์การบริหารส่วนตำบลแล้ว
6. บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 4 จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,600 ล้านบาท กำลังการผลิตไฟฟ้า142เมกะวัตต์ และไอน้ำ 30ตัน/ชั่วโมง ตั้งโครงการ ที่จังหวัดชลบุรี โดยโครงการนี้จะจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย90 เมกะวัตต์และที่เหลือจำหน่ายให้บริษัทต่างๆ ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร
7. บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ เงินลงทุนทั้งสิ้น 19,150 ล้านบาท กำลังการผลิตไฟฟ้า 970 เมกะวัตต์ ตั้งโครงการที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยโครงการนี้เป็นโรงผลิตไฟฟ้าประเภท IPP ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ(Independent Power Producer) หรือผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ ซึ่งได้รับความเห็นชอบการก่อสร้างจากคณะรัฐมนตรี ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าขนอมเดิมที่จะปลดเครื่องออกจากระบบ มีกำหนดเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าในปี 2559
8. บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมกิจการขนส่งทางอากาศเงินลงทุนทั้งสิ้น 13,710 ล้านบาท โดยจะจัดหาเครื่องบินใหม่แบบโบอิ้ง 737-800 จำนวน 15 ลำ มีความจุผู้โดยสารรวม 2,835 ที่นั่งและมีระวางบรรทุกสินค้ารวม 30 ตันโดยบริษัทฯ มีแผนจะเพิ่มจำนวนเที่ยวบินของเส้นทางปัจจุบัน และขยายเส้นทางการบินไปยังต่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศจีนจำนวนหลายเส้นทาง
9. นาย ฮาเซกาว่า นารูมิ (Mr. Hasegawa Narumi) ได้รับส่งเสริมกิจการสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค หรือ (Regional Operating Headquarter: ROH) เพื่อจัดตั้ง Technical Center และกำกับดูแลกิจการสาขาหรือบริษัทในเครือ บริดจสโตน ทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาค เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,543 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร
10.บริษัทสยาม ควอลิตี้ สตาร์ช จำกัด ได้รับส่งเสริมให้ขยายกิจการผลิตแป้งมันสำปะหลัง และแป้งแปรรูป เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,250 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละประมาณ 112,000 ตัน ตั้งโครงการอยู่ที่ อำเภอบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ
11.บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 5 จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าชธรรมชาติ ขนาด 142 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 30 ตัน/ชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,600 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี
ภาวะลงทุน 4 เดือน มูลค่าทะลุ 5 แสนล้านบาท
ด้านนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ กล่าวถึงภาวะการลงทุนในช่วงต้นปี 2556 ว่า การลงทุนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 747 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 510,000 ล้านบาท โดยจำนวนโครงการขยายตัวร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งมีจำนวน 593 โครงการ ส่วนมูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับ 4 เดือนแรกปี 2555 ซึ่งมีมูลค่า 283,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมในช่วง 4 เดือนแรก ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 54 เป็นการขยายการลงทุนของโครงการเดิมที่ลงทุนในไทยอยู่แล้ว และมีมูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 430,000 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนรายเดิมเชื่อมั่นในศักยภาพการเป็นแหล่งรองรับการลงทุนของประเทศไทย ขณะที่นักลงทุนรายใหม่ก็ยังยื่นขอรับส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง
สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจจะลงทุนมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค จำนวน 167 โครงการ เงินลงทุนรวม 246,100 ล้านบาท มีโครงการขนาดใหญ่ ได้แก่ กิจการขนส่งทางอากาศ กิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรมชาติ กิจการท่าเรือรับก๊าซธรรมชาติ และกิจการเขตอุตสาหกรรม เป็นต้น
อุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจลงทุนมากเป็นอันดับ 2 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง มีคำขอรับส่งเสริมจำนวน 156 โครงการ เงินลงทุนรวม 124,100 ล้านบาท มีโครงการขนาดใหญ่ อาทิ โครงการประกอบรถยนต์และผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ โครงการผลิตเครื่องยนต์ดีเซล กิจการประกอบรถกระบะ และกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อื่นๆ รวมทั้งกิจการผลิตแม่พิมพ์ เป็นต้น
อุตสาหกรรมเกษตรได้รับความสนใจลงทุนเป็นอันดับ 3 มีจำนวน 210 โครงการ เงินลงทุนรวม 83,200 ล้านบาท โครงการขนาดใหญ่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ โครงการผลิตเครื่องดื่มจากผักผลไม้ โครงการผลิตยางแท่งและยางผสม โครงการผลิตอาหารกระป๋องและอาหารแช่แข็ง โครงการผลิตน้ำมันปาล์มและรำข้าว โครงการผลิตอาหารสัตว์ โครงการเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น